เรื่อง พัฒนาการของยุโรปสมัยกลาง

พัฒนาการของยุโรปสมัยกลา

พัฒนาการของยุโรปสมัยกลาง

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 4-5 จักรวรรดิโรมันได้ถูกรุกรานจากพวกเผ่าอนารยชนหลายเผ่า จักรพรรดิโรมันพยายามสร้างความเข้มแข็งด้วยการแบ่งจักรวรรดิออกเป็น 2 ภาค คือ จักรวรรดิโรมันตะวันตก มีเมืองหลวงอยู่ที่กรุงโรมและจักรวรรดิโรมันตะวันออก มีเมืองหลวงอยู่ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล แต่ก็ไม่สามารถทำให้จักรวรรดิโรมันมั่นคงอยู่ได้ ใน ค.ศ. 476 แม่ทัพเผ่าเยอรมันได้ปลดจักรพรรดิองค์สุดท้ายของ จักรวรรดิโรมันตะวันตกลง ถือเป็นการสิ้นสุดจักรวรรดิ ส่วนจักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือจักรวรรดิไบแซนไทน์ ยัง ดำรงสืบต่อมาอีกเกือบ 1000 ปี จนกระทั่งล่มสลายในค.ศ.1453

อิทธิพลของคริสต์ศาสนาในยุโรปสมัยกลาง คลิกที่นี่

เหตุการณ์สำคัญในยุโรปสมัยกลาง

สงครามครูเสด (Crusade)

เป็นสงครามระหว่างคริสต์ศาสนากับศาสนาอิสลาม มีสาเหตุ 2 ประการ คือ

1.สาเหตุทางการเมือง ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11 เกิดการเปลี่ยนแปลงในจักรวรรดิอาหรับ เมื่อพวกเซลจุลเติร์ก (Seljuk Turk) เข้าไปมีอำนาจในจักรวรรดิอาหรับซึ่งเป็นจักรวรรดิอิสลามต่อมาใน ค.ศ. 1071 กองทหารเซลจุกเติร์กรบชนะกองทหารจักรวรรดิไบแซนไทน์ในดินแดนอาร์เมเนีย และยึดครองคาบสมุทรตุรกีไว้ได้ทั้งหมด รุกรานจักรวรรดิไบแซนไทน์ จักรพรรดิไบแซนไทน์จึงขอความช่วยเหลือไปยังคริสตจักรที่กรุงโรม สันตะปาปาเออร์บันที่ 2 (Urban II ค.ศ. 1088-1099) จึงประชุมขุนนางในยุโรปให้ไปช่วยจักรวรรดิไบแซนไทน์รบกับพวกเซลจุกเติร์ก

2.สาเหตุทางด้านศาสนา ในช่วงเวลาที่พวกเซลจุกเติร์กเข้ามามีอำนาจในดินแดนตะวันออก ได้ปิดกั้นกรุงเยรูซาเลมไม่ให้ชาวคริสต์ไปแสวงบุญ และการกระทำทารุณ-กรรมกับชาวคริสต์ สันตะปาปาจึงใช้สาเหตุดังกล่าวชักชวนชาวคริสต์ให้ไปทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ โดยมีเหตุผลสำคัญคือ การปลดปล่อยกรุงเยรูซาเลมจากพวกนอกศาสนา

ผลของการชักชวนของสันตะปาปาทำให้ชาวยุโรปทั้งขุนนาง พ่อค้า และประชาชนสามัญพากันเดินทางไปจักรวรรดิไบแซนไทน์และดินแดนปาเลสไตน์

สาเหตุที่ชาวยุโรปเข้าร่วมสงคราม

1.ชาวยุโรปมีความ ศรัทธาต่อศาสนาอย่างแรงกล้า/ สันตะปาปาประกาศยกบาปให้ผู้เข้าร่วมสงคราม

2.ขุนนางระดับล่าง-สามัญชนที่ไม่มีที่ดินในยุโรปต้องการครอบครองที่ดินในตะวันออกกลาง

3.การแข่งขันทางอำนาจระหว่างกษัตริย์กับขุนนางเกี่ยวกับการครอบครองที่ดิน

4.พ่อค้าอิตาลีต้องการขยายการค้า

5.ประชาชนต้องการเสี่ยงโชคเพื่อแสวงหาความมั่งคั่ง

สงครามครูเสดเกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1096-1291 ในช่วงเวลาดังกล่าวมีช่วงของการทำสงครามและการพักรบเป็นระยะๆ และในที่สุดสงครามได้ยุติลงใน ค.ศ. 1291 เมืองอาเกร (Acre) ที่มั่นสุดท้ายแห่งพวกครูเสดถูกกองทัพอียิปต์เข้ายึดครอง นับเป็นความล้มเหลวของกองทัพยุโรปที่ไม่สามารถยึดครองกรุงเยรูซาเลมและดินแดนปาเลสไตน์จากจักรวรรดิมุสลิมได้

ผลกระทบของสงครามครูเสด

1.ระบบฟิวดัลเสื่อมลงขุนนางยากจนและเสียชีวิต ส่วนสถาบันกษัตริย์แข็งแกร่งขึ้น และข้าติดที่ดินได้รับอิสระ

2.การค้าขยายตัวสินค้าจากตะวันออกแพร่หลายในยุโรป เช่น ผ้าไหมและเครื่องเทศ

3.มีการนำแร่เงินและทองเข้ามาในยุโรป เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยระบบเงินตรา

4.อารยธรรมกรีก-โรมันเข้ามาในยุโรปอีกครั้ง

5.เมืองต่าง ๆ กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่มีความเจริญรุ่งเรือง


เหตุการณ์สำคัญในยุโรปสมัยกลาง

สงครามร้อยปี (Hundred Years’ War)

สงครามร้อยปีเป็นเหตุการณ์สงครามระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส เริ่มขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1337 และสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1453 กินระยะเวลา 100 ปี โดยมีสาเหตุดังนี้

1.ความขัดแย้งเรื่องดินแดนระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส

2. พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ 3 (Edward III) กษัตริย์อังกฤษทรงอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศส เนื่องจากทรงมีพระมารดาเป็นเจ้าหญิงฝรั่งเศส

3. อังกฤษต้องการผนวกสกอตแลนด์ แต่สกอตแลนด์ได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสให้ต่อต้านอังกฤษ ทำให้อังกฤษไม่พอใจฝรั่งเศส

4. ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างฝรั่งเศสและอังกฤษเกี่ยวกับการค้า

5. สาเหตุภายใน กษัตริย์ทั้งสองประเทศประสบปัญหาการขยายอำนาจของขุนนาง

สถานการณ์ของสงคราม

อังกฤษกับฝรั่งเศสทำสงครามกันเป็นระยะ ๆ เมื่อเกิดสงคราม กองทัพอังกฤษได้โจมตีฝรั่งเศส กองทัพฝรั่งเศสพยายามต่อต้าน แต่กองทัพอังกฤษสามารถเอาชนะกองทัพฝรั่งเศสได้ ทำให้ฝรั่งเศสต้องทำสัญญาสันติภาพกับอังกฤษใน ค.ศ. 1358

โดยอังกฤษได้ครอบครองดินแดนฝรั่งเศสหลายแห่งด้วยกัน และยังได้รับเงินค่าไถ่องค์พระเจ้าจอห์นที่ 2 (John II ค.ศ. 1305-1364) กษัตริย์ฝรั่งเศสที่ถูกจับเป็นเชลยศึกด้วย

ขณะเดียวกันอังกฤษก็ยอมยกเลิกการอ้างสิทธิในตำแหน่งกษัตริย์ฝรั่งเศส หลังจากสงครามทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสต่างก็ต้องเผชิญกับปัญหาโรคระบาดและความไม่สงบภายในประเทศ ดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษในประเทศฝรั่งเศสได้ทำการต่อต้านอังกฤษ พร้อมกับขอให้ฝรั่งเศสเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย สงครามได้เริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1370 ในสมัยพระเจ้าชาลส์ที่ 5 แห่งฝรั่งเศส สงครามระยะนี้ฝรั่งเศสได้เปรียบกองทัพอังกฤษ

หลังสงครามสงบ ฝรั่งเศสต้องเผชิญกับความขัดแย้งภายในระหว่างฝ่ายต่อต้านอังกฤษกับฝ่ายนิยมอังกฤษ ในที่สุดอังกฤษก็เป็นฝ่ายชนะ ทำให้ทั้งสองประเทศสงบศึกกันนานกว่า 2 ทศวรรษ แต่อังกฤษยังแทรกแซงการเมืองภายในของฝรั่งเศสและเกิดสงครามขึ้นเป็นระยะ ๆ กองทัพอังกฤษรุกรานฝรั่งเศส แต่กองทัพฝรั่งเศสมีวีรสตรีโจนออฟอาร์ค (Joan of Arc) เป็นผู้นำทัพ จึงสามารถเอาชนะกองทัพอังกฤษได้ที่เมืองออร์เลออง (Orleans ค.ศ.1429) และเอาชนะกองทัพอังกฤษได้หลายครั้ง

ในปีต่อมา โจนถูกจับตัวโดยฝ่ายสนับสนุนอังกฤษ ถูกดำเนินคดีในศาสนา และถูลงโทษเผาทั้งเป็นใน ค.ศ. 1430 วีรกรรมของโจนได้ก่อให้เกิดความคิดเรื่องชาตินิยมในหมู่ชาวฝรั่งเศสอย่างรุนแรง

หลังจากนั้นกองทัพฝรั่งเศสได้ทำการยึดครองดินแดนกลับคืนจากกองทัพอังกฤษได้เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งสงครามยุติลงใน ค.ศ. 1453

ผลกระทบต่อประเทศอังกฤษ

1.กษัตริย์อังกฤษหันมาให้ความสนพระทัยกิจการภายในและการค้ากับโพ้นทะเล

2.อำนาจของรัฐสภาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น

3.การชนะกองทัพอังกฤษทำให้เกิดชาตินิยมในหมู่ชาวอังกฤษ

4. ขุนนางเสียชีวิตและยากจนลง และกษัตริย์ รวมศูนย์กลางอำนาจไว้ส่วนกลางได้สำเร็จ

ผลกระทบต่อประเทศฝรั่งเศส

1.ส่งเสริมอำนาจเด็ดขาดแก่กษัตริย์ฝรั่งเศสในการปรับปรุงกองทัพเพื่อปราบปรามขุนนางและทำสงครามกับต่างชาติ

2.รัฐสภายอมรับอำนาจของกษัตริย์ฝรั่งเศส ทำให้กษัตริย์ฝรั่งเศสมีอำนาจมากขึ้นจนพัฒนาเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

3.กระตุ้นความคิดชาตินิยมในหมู่ชาวฝรั่งเศส วีรกรรมของโจนออฟอาร์คได้กลายเป็นตำนาน ของชาวฝรั่งเศสจนถึงปัจจุบัน

เหตุการณ์สำคัญในยุโรปสมัยกลาง

ความเสื่อมของศาสนจักรในช่วงสมัยกลาง

สาเหตุสำคัญ

1.เกิดลัทธิชาตินิยมและ รัฐชาติในยุโรป โดยเฉพาะในอังกฤษและฝรั่งเศส ประชาชนให้การสนับสนุนการเกิดรัฐชาติและอำนาจของกษัตริย์ก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างกษัตริย์กับสันตะปาปา

2.ความแตกแยกภายในศาสนจักรจนถึงขั้นมีสันตะปาปาพร้อมกัน 2 องค์ในเวลาเดียวกัน องค์หนึ่งประทับอยู่ที่กรุงโรม องค์หนึ่งอยู่ที่สำนักสันตะปาปาอาวิญง (Avignon) ทำให้คริสตจักรอ่อนแอลง เกิดความปั่นป่วนในระบบการบริหารงานของคริสตจักร เกิดความแตกแยกและความเสื่อมศรัททาในหมู่คริสต์ศาสนิกชน ต่อมาศาสนจักรเกิดปัญหาการฉ้อฉล ยิ่งทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา นำไปสู่การปฏิรูปศาสนาต่อไป

การสิ้นสุดสมัยกลาง

ในตอนปลายสมัยกลาง การค้าขยายตัวตามเมืองต่าง ๆ ทั่วยุโรป เกิดชนชั้นกลาง คือ พ่อค้าและผู้ประกอบอาชีพที่ใช้ความรู้ เช่น แพทย์ ครู นักกฎหมาย แทรกแซงระหว่างชนชั้นสูง ได้แก่ เจ้านายชั้นสูง และชนชั้นต่ำ ได้แก่ ชาวนาและช่างฝีมือ ชนชั้นกลางมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นพวกที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้ปกป้องตน ขณะเดียวกันขุนนางในระบบฟิวดัลก็อ่อนแอลง เป็นเหตุให้ กษัตริย์รวมดินแดนต่าง ๆ ตั้งเป็นรัฐเมื่อเข้าสู่สมัยใหม่ทางด้านความเห็นของประชาชนทั่วไปต้องการแสวงหาความรู้ที่นอกเหนือจากที่ ศาสนจักรกำหนด จึงเริ่มหันไปสนใจอารยธรรมกรีกและโรมันที่มีมาก่อนคริสต์ศาสนานำไปสู่การฟื้นฟูศิลปวิทยาการเมื่อเริ่มสมัยใหม่ซึ่งทำให้สมัยใหม่มีความแตกต่างจากสมัยกลางเป็นอย่างมาก


อารยธรรมสมัยกลาง

มรดกวัฒนธรรมของสมัยกลาง

สังคมตะวันตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสถาบันคริสต์ศาสนาและการปกครองระบอบฟิวดัลคริสต์ศาสนาสร้างศรัทธาให้ชาวตะวันตกจนสามารถเป็นผู้ชี้นำสังคมทั้งด้านความเชื่อจริยธรรม การดำเนินชีวิต การปกครอง ศิลปวัฒนธรรมระบบฟิวดัลเกิดความอ่อนแอจากอำนาจส่วนกลางทำให้ขุนนางก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการกำหนดฐานะและสิทธิต่าง ๆ ของปัจเจกชนที่ส่วนใหญ่มีฐานะเป็นข้าติดที่ดิน

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าอารยธรรมในสมัยกลางเกิดจากการส่งเสริมและทำนุบำรุงของพระและขุนนางเป็นส่วนใหญ่จึงสะท้อนให้เห็นเรื่องราวและอิทธิพลของคริสต์ศาสนาและสังคมขุนนางในสมัยกลาง

อารยธรรมสมัยกลางที่เป็นมรดกตกทอดสู่โลกตะวันตกในสมัยต่อมา มีดังนี้

สถาปัตยกรรม

ศิลปแบบโรมาเนสก์ (Romanesque) มีลักษณะสำคัญ คือ

1.ได้รับอิทธิพลจากศิลปะโรมัน อาคารโบสถ์วิหารต่างๆ นิยมทำประตูและหน้าต่างเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลมที่ขอบด้านบน ภายในอาคารมืดทึบ มีภาพหินโมเสกประดับเป็นศิลปะมีลักษณะเรียบง่ายแต่ให้ความรู้สึกแข็งแกร่ง ได้รับความนิยมในยุโรปตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 11-12

2.งานสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ ส่วนใหญ่นิยมสร้างวิหารในคริสต์ศาสนาขนาดใหญ่ เพื่อรองรับผู้คนจำนวนมาก หลังคาของวิหารเป็นซุ้มโค้ง เช่น วิหารแซงต์ – เอเตียน์ ในฝรั่งเศส วิหารและหอเอนเมืองปิซา ประเทศอิตาลี เป็นต้น

ศิลปแบบโรกอทิก (Gothic)

1.เป็นศิลปะที่ปรากฏลักษณะของยุโรปสมัยกลางอย่างเด่นชัด และหลุดพ้นจากอิทธิพลกรีก – โรมันโดยสิ้นเชิง แสดงถึงความสามารถทางสติปัญญาและความอัจฉริยะของศิลปินในสมัยกลางได้เป็นอย่างดี และได้รับความนิยมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 – 15

2.ลักษณะสำคัญของงานสถาปัตยกรรมแบบกอทิก คือ มีลักษณะสูงเพรียว โปร่ง หลังคาทรงสูง ก่อสร้างเป็นโค้งแหลม ประตูและหน้าต่างมีลักษณะโค้งแหลม หน้าต่างและหนังอาคารประดับด้วยกระจกสีประดิษฐ์ลวดลายงดงาม

สิ่งก่อสร้างที่ใช้ศิลปะแบบกอทิกส่วนใหญ่เป็นวิหารในคริสต์ศาสนา เช่น วิหารนอเตรอดาม กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และวิหารออร์เวียตโต ประเทศอิตาลี เป็นต้น

อารยธรรมสมัยกลาง

มรดกวัฒนธรรมของสมัยกลาง

วรรณกรรม

การสร้างสรรค์วรรณกรรมในสมัยกลางของยุโรป มีทั้งประเภทที่ได้รับอิทธิพลจากคริสต์ศาสนาและประเภทที่เน้นเรื่องราวทางโลก โดยแต่งเป็นภาษาละติน ซึ่งเป็นภาษาสำคัญของคริสต์ศาสนาและเป็นภาษาหนังสือที่เป็นสากลของยุโรปสมัยกลาง

วรรณกรรมทางศาสนา

1. วรรณกรรมที่มีอิทธิพลต่อแนวความคิด เช่น เทวนคร (The City of God) เขียนโดยนักบุญออกัสติน (St. Augustine)

2.สมัยปลายจักรวรรดิโรมันเกิดงานเขียนที่มีความสำคัญ คือ มหาเทววิทยา (Summa Theologica) โดยนักบุญทอมัส อะไควนัส (St. Thomas Aquinas) ใช้สอนในมหาวิทยาลัย ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 แสดงความงดงามของภาษละติน แก่นสาระของคริสต์ศาสนา และความต้องตั้งมั่นในหลักคำสอนของคริสต์ศาสนิกชน

วรรณกรรมทางโลก

ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวที่สะท้อนชีวิตของสังคมในระบอบฟิวดัล หรือวีรบุรุษในสงคราม เน้นการต่อสู้ ผจญภัย ความกล้าหาญ เสียสละ และสอนค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อกษัตริย์หรือขุนนางเจ้านายของตน

1. มหากาพย์ (epic) ในฝรั่งเศสเรียกว่า ชองซองเดอเจสต์ (Chanson de Geste) เป็นเรื่องราวของการสร้างวีรกรรมของวีรบุรุษในอดีต นิยมประพันธ์ด้วยโคลงกลอน แพร่หลายในศตวรรษที่ 11-12 วรรณกรรมที่สำคัญ ได้แก่ ชองซองเดอโรลองด์ (Chanson de Roland) เป็นเรื่องราวการต่อสู้ของโรลองด์ ทหารคนสนิทของจักรพรรดิชาร์เลอมาญกับกองทัพของพวกซาราเซ็นซึ่งเป็นมุสลิม

2. นิยายวีรคติหรือนิยายโรมานซ์ (romance) ประพันธ์เป็นคำกลอน เกิดในยุโรปตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 11-12 ต่อมาแพร่หลายในฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมัน นิยายโรมานซ์เป็นเรื่องราวความจงรักภักดีของอัศวินต่อเจ้าและขุนนาง และความรักแบบเทิดทูน (courtly love) ที่อัศวินมีต่อสตรี ที่สำคัญ ได้แก่ กษัตริย์อาเทอร์กับอัศวินโต๊ะกลม (King Arthur and the Knight of the Round Table)

3. คีตกานท์ (lyric) เป็นบทร้อยกรองที่กล่าวถึงความในใจ เกิดในฝรั่งเศสภาคใต้เมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยนักร้องที่เรียกตัวเองว่า ตรูบาดูร์ (Troubadour) นิยมร้องและบรรเลงในปราสาทของขุนนางและราชสำนัก มีเรื่องราวเกี่ยวกับความรักแบบเทิดทูน

4. นิทานฟาบลิโอ (fabliau) เล่าเรื่องขนาดสั้นเขียนเป็นบทร้อยกรอง มุ่งเสียดสีสังคมสมัยนั้น มักเป็นเรื่องของนักบวชหรือเรื่องของสตรี เดิมเป็นนิทานของฝรั่งเศส แต่มีปรากฏในวรรณกรรมอังกฤษด้วย เล่มสำคัญ ได้แก่ แคนเทอร์เบอรีเทลส์ (The Canterbury Tales) ของเจฟฟรีย์ ชอเซอร์ (Geoffrey Chaucer) กวีชาวอังกฤษ เป็นโคลงเล่าเรื่อง 24 เรื่อง

5. นิทานอุทาหรณ์ (fable) เป็นนิทานร้อยแก้วหรือร้อยกรองในลักษณะของนิทานอีสป (Aesop) ที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ นิทานชุดโรมานซ์ออฟ รีนาร์ด (The Romance of Renard) เริ่มแต่งในฝรั่งเศสคริสต์ศตวรรษที่ 12 และมีผู้แต่งต่อ ๆ กันมาจนคริสต์ศตวรรษที่ 14 เป็นเรื่องราวของสุนัขจิ้งจอก ชื่อรีนาร์ด เนื้อหาล้อเลียนเสียดสีสังคมฝรั่งเศสในสมัยกลาง เรื่องสุนัขจิ้งจอก รีนาร์ดที่แต่งในระยะหลังประณามระบบฟิวดัล กระบวนการยุติธรรม และวงการศาสนาอย่างรุนแรง

อารยธรรมสมัยกลาง

มรดกวัฒนธรรมของสมัยกลาง

เมืองที่เกิดจากการค้า

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา การค้าของโลกตะวันตกได้กลับฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ซบเซาเป็นเวลานานหลายร้อยปี อันเนื่องมาจากการรุกรานของพวกอนารยชนและการขยายอิทธิพลควบคุมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของพวกมุสลิม ความเจริญรุ่งเรื่องทางด้านการค้าก่อให้เกิดความเจริญทางด้านเศรษฐกิจของยุโรปสมัยกลาง ดังนี้

การฟื้นตัวของเมืองเก่าที่เคยเจริญรุ่งเรืองในสมัยจักรวรรดิโรมัน และเกิดเมืองใหม่ๆ ที่กลายเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้าและวัฒนธรรมของสมัยกลาง โดยเฉพาะในคาบสมุทรอิตาลีจนถึงคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย

การเกิดวัฒนธรรมและสถาบันพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการปกครอง ได้แก่

1.สมาคมพ่อค้าและช่างฝีมือ (หรือสมาคมอาชีพ) ที่เรียกว่า กิลด์ (Guild) โดยใช้ระบบฝึกงานเพื่อพัฒนาฝีมือของช่าง และควบคุมมาตรฐานคุณภาพสินค้า รวมทั้งจัดสวัสดิการใช้ช่างฝีมือ

2.การจัดงานแสดงสินค้า หรือตลาดนัด

3.ระบบธนาคาร ให้บริการรับฝากและกู้ยืมเงิน และการทำสัญญากู้เงิน

4.การใช้เลขอาหรับหรืออารบิกในการทำบัญชีการค้า

5.การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งใกล้เคียงกับเทศบาลปัจจุบัน

6.การกำหนดวันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีใหม่ เพื่อความสะดวกในการทำสัญญากู้เงินซึ่งต้องมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน

อารยธรรมสมัยกลาง

มรดกวัฒนธรรมของสมัยกลาง

การเกิดมหาวิทยาลัยตะวันตก

มหาวิทยาลัยในสมัยกลางพัฒนามาจากโรงเรียน วัด และโรงเรียน มหาวิหารในคริสต์ศาสนา ซึ่งให้การศึกษาอบรมแก่นักบวช บุตรหลานของขุนนาง พ่อค้า และประชาชนทั่วไป มหาวิทยาลัยมีนักปราชญ์ผู้ทรงความรู้เป็นครูผู้สอน มิใช่ผูกขาดการสอนโดยเฉพาะนักบวชเหมือนดังแต่ก่อน

ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11 – 12 มีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นหลายสิบแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยปารีส (ฝรั่งเศส) และมหาวิทยาลัยโบโลญญา (อิตาลี) เป็นต้น

เมื่อสิ้นสุดสมัยกลางในคริสต์ศตวรรษที่ 15 มีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นในยุโรปไม่ต่ำกว่า 80 แห่ง และเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจนถึงปัจจุบัน เช่น มหาวิทยาลัยออกซฟฟอร์ดและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของสหราชอาณาจักร เป็นต้น

สาเหตุที่ทำให้เกิดการขยายตัวของตัวของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในสมัยกลาง คือ

1.การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเมือง โดยเฉพาะความเจริญรุ่งเรืองทางการค้า ทำให้ผู้คนใฝ่หาความรู้ และมีเงินทุนในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยของเมือง ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงเป็นผลิตผลของสังคมเมืองโดยตรง

2.การไปร่วมรบในสงครามครูเสด ทำให้ได้รับความรู้และวิทยาการจากยุโรปตะวันออกและเอเชียไมเนอร์ โดยเฉพาะดินแดนจักรวรรดิไบแซนไทน์ ซึ่งมีศูนย์กลางที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (ประเทศตุรกีในปัจจุบัน) เช่น ความรู้ทางการแพทย์ ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ และปรัชญา เป็นต้น