ประวัติและความสำคัญของพระพุทธศาสนา
ลักษณะประชาธิปไตยในพระพุทธศาสนา
หลักประชาธิปไตยทั่วไปในพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประชาธิปไตยมาตั้งแต่เริ่มแรก ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงมอบให้พระสงฆ์เป็นใหญ่ในกิจการทั้งปวงเสียอีกลักษณะที่เป็นประชาธิปไตยในพระพุทธศาสนามีตัวอย่างดังต่อไปนี้
1. พระพุทธศาสนามีพระธรรมวินัยเป็นธรรมนูญหรือกฎหมายสูงสุด พระธรรม คือ คำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง พระวินัยคือ คำสั่งอันเป็นข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นเมื่อรวมกัน เรียกว่า พระธรรมวินัย ซึ่งมีความสำคัญขนาดที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้เป็นพระศาสดาแทนพระองค์ ก่อนที่พระองค์จะปรินิพพานเพียงเล็กน้อย
2. มีการกำหนดลักษณะของศาสนาไว้เรียบร้อย ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ลักษณะของพระพุทธศาสนาคือสายกลาง ไม่ซ้ายสุด ไม่ขวาสุด ทางสายกลางนี้เป็นครรลอง อาจปฏิบัติค่อนข้างเคร่งครัดก็ได้ โดยใช้สิทธิในการแสวงหาอดิเรกลาภตามที่ทรงอนุญาตไว้ ในสมัยต่อมา เรียกแนวกลางๆ ของพระพุทธศาสนาว่า วิภัชชวาที คือศาสนาที่กล่าวจำแนกแจกแจง ตามความเป็นจริงบางอย่างกล่าวยืนยันโดยส่วนเดียวได้ บางอย่างกล่าวจำแนกแจกแจงเป็นกรณี ๆ ไป
3. พระพุทธศาสนา มีความเสมอภาคภายใต้พระธรรมวินัย บุคคลที่เป็นวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทรมาแต่เดิม รวมทั้งคนวรรณะต่ำกว่านั้น เช่นพวกจัณฑาล พวกปุกกุสะคนเก็บขยะ และพวกทาส เมื่อเข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องแล้ว มีความเท่าเทียมกัน คือปฏิบัติตามสิกขาบทเท่ากัน และเคารพกันตามลำดับอาวุโส คือผู้อุปสมบทภายหลังเคารพผู้อุปสมบทก่อน
4. พระภิกษุในพระพุทธศาสนา มีสิทธิ เสรีภาพภายใต้พระธรรมวินัย เช่นในฐานะภิกษุเจ้าถิ่น จะมีสิทธิได้รับของแจกก่อนภิกษุอาคันตุกะ ภิกษุที่จำพรรษาอยู่ด้วยกันมีสิทธิได้รับของแจกตามลำดับพรรษา มีสิทธิรับกฐิน และได้รับอานิสงส์กฐินในการแสวงหาจีวรตลอด 4 เดือนฤดูหนาวเท่าเทียมกัน นอกจากนั้นยังมีเสรีภาพที่จะเดินทางไปไหนมาไหนได้ จะอยู่จำพรรษาวัดใดก็ได้เลือกปฏิบัติกรรมฐานข้อใด ถือธุดงควัตรข้อใดก็ได้ทั้งสิ้น
5. มีการแบ่งอำนาจ พระเถระผู้ใหญ่ทำหน้าที่บริหารปกครองหมู่คณะ การบัญญัติพระวินัย พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเอง เช่นมีภิกษุผู้ทำผิดมาสอบสวนแล้วจึงทรงบัญญัติพระวินัย ส่วนการตัดสินคดีตามพระวินัยทรงบัญญัติแล้วเป็นหน้าที่ของพระวินัยธรรมซึ่งเท่ากับศาล
6. พระพุทธศาสนามีหลักเสียงข้างมาก คือ ใช้เสียงข้างมาก เป็นเกณฑ์ตัดสิน เรียกว่า วิธีเยภุยยสิกา การตัดสินโดยใช้เสียงข้างมาก ฝ่ายใดได้รับเสียงข้างมากสนับสนุน ฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายชนะคดี
หลักการของพระพุทธศาสนากับหลักวิทยาศาสตร์
หลักการของพระพุทธศาสนากับหลักการของวิทยาศาสตร์มีทั้งส่วนที่สอดคล้อง และส่วนที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้ ความสอดคล้องกันของหลักการของพระพุทธศาสนากับหลักการวิทยาศาสตร์
1. ในด้านความเชื่อ (Confidence) หลักการวิทยาศาสตร์ ถือหลักว่า จะเชื่ออะไรนั้นจะต้องมีการพิสูจน์ให้เห็นจริงได้เสียก่อน วิทยาศาสตร์เชื่อในเหตุผล ไม่เชื่ออะไรลอย ๆ และต้องมีหลักฐานมายืนยัน วิทยาศาสตร์ไม่อาศัยศรัทธาแต่อาศัยเหตุผล เชื่อการทดลองว่าให้ความจริงแก่เราได้ แต่ไม่เชื่อการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะทุกอย่างดำเนินอย่างมีกฎเกณฑ์ มีเหตุผล และวิทยาศาสตร์อาศัยปัญญาและเหตุผลเป็นตัวตัดสินความจริง วิทยาศาสตร์มีความเชื่อว่า สรรพสิ่งในจักรวาลล้วนดำเนินไปอย่างมีเหตุผล มีความเป็นระเบียบและมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน
หลักการทางพระพุทธศาสนา มีหลักความเชื่อเช่นเดียวกับหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้สอนให้มนุษย์เชื่อและศรัทธาอย่างงมงายในอิทธิปาฏิหาริย์ และอาเทศนาปาฏิหาริย์ แต่สอนให้ศรัทธาในอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ที่จะก่อให้เกิดปัญญาในการแก้ทุกข์แก้ปัญหาชีวิต ไม่สอนให้เชื่อให้ศรัทธาในสิ่งที่อยู่นอกเหนือประสาทสัมผัสเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ สอนให้มนุษย์นำเอาหลักศรัทธาโยงไปหาการพิสูจน์ด้วยประสบการณ์ ด้วยปัญญา และด้วยการปฏิบัติ ดังหลักของความเชื่อใน “กาลามสูตร” คืออย่าเชื่อ เพียงเพราะให้ฟังตามกันมา อย่าเชื่อ เพียงเพราะได้เรียนตามกันมา
อย่าเชื่อ เพียงเพราะได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา
อย่าเชื่อ เพียงเพราะเสียงเล่าลือ
อย่าเชื่อ เพียงเพราะอ้างตำรา
อย่าเชื่อ เพียงเพราะตรรกะ หรือนึกคิดเอาเอง
อย่าเชื่อ เพียงเพราะอนุมานหรือคาดคะเนเอา
อย่าเชื่อ เพียงเพราะคิดตรองตามแนวเหตุผล
อย่าเชื่อ เพียงเพราะตรงกับทฤษฎีของตนหรือความเห็นของตน
อย่าเชื่อ เพียงเพราะรูปลักษณะน่าเชื่อ
อย่าเชื่อ เพียงเพราะท่านเป็นสมณะหรือเป็นครูอาจารย์ของเรา
ในหลักกาลามสูตรนี้ พระพุทธเจ้ายังตรัสต่อไปว่า จะต้องรู้เข้าใจด้วยว่า สิ่งเหล่านี้เป็นกุศล หรืออกุศล ถ้ารู้ว่าเป็นอกุศล มีโทษ ไม่เป็นประโยชน์ ทำให้เกิดทุกข์ พึงละเสีย ถ้ารู้ว่าเป็นกุศล มีคุณ เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อความสุข ก็ให้ถือปฏิบัติ นั่นคือศรัทธาหรือความเชื่อที่ก่อให้เกิดปัญญา
2. ในด้านความรู้ (Wisdom) ทั้งหลักการทางวิทยาศาสตร์และหลักการของพระพุทธศาสนา ยอมรับความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ หมายถึง การที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้ประสบกับความรู้สึกนึกคิด เช่น รู้สึกดีใจ รู้สึกอยากได้ เป็นต้น วิทยาศาสตร์เริ่มต้นจากประสบการณ์คือ จากการที่ได้พบเห็นสิ่งต่าง ๆ แล้วเกิดความอยากรู้อยากเห็นก็แสวงหาคำอธิบาย วิทยาศาสตร์ไม่เชื่อหรือยึดถืออะไรล่วงหน้าอย่างตายตัว แต่จะอาศัยการทดสอบด้วยประสบการณ์สืบสาวไปเรื่อย ๆ จะไม่อ้างอิงถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ ที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์และการทดลอง วิทยาศาสตร์แสวงหาความจริงสากล (Truth) ได้จากฐานที่เป็นความจริงเฉพาะองค์ความรู้ในทางวิทยาศาสตร์ได้จากประสบการณ์ ความรู้ใดที่อยู่นอกขอบเขตของประสบการณ์ไม่ถือว่าเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์พระพุทธเจ้าก็ทรงเริ่มคิดจากประสบการณ์คือ ประสบการณ์ที่ได้เห็นความเจ็บ ความแก่ ความตาย และที่สำคัญที่สุดคือความทุกข์พระองค์มีพระประสงค์ที่จะค้นหาสาเหตุของทุกข์ในการค้นหานี้ พระองค์มิได้เชื่ออะไรล่วงหน้าอย่างตายตัว ไม่ทรงเชื่อว่ามีพระผู้เป็นเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ ที่จะให้คำตอบได้แต่ได้ทรงทดลองโดยอาศัยประสบการณ์ของพระองค์เองดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
หลักการพระพุทธศาสนาและหลักการทางวิทยาศาสตร์มีส่วนที่ต่างกันในเรื่องนี้คือ วิทยาศาสตร์เน้นความสนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ด้านประสาทสัมผัส (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) ส่วนพระพุทธศาสนาเน้นความสนใจกับปัญหาที่เกิดทางจิตใจ หลักการทางพระพุทธศาสนามีส่วนคล้ายคลึงกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ในหลายประการ เช่น ในขณะที่มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งมุ่งแสวงหาความจริงของธรรมชาติที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ (Pure Science) และมีนักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งมุ่งแสวงหาความรู้ที่จะนำมาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์ที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science)
หลักการพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระสัทธรรมเพื่อสอนให้มนุษย์เกิดปัญญา 2 ทางคือ ทางแรก สอนให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในธรรมชาติและในกฎธรรมชาติ เช่น สอนให้รู้หลักอิทัปปัจจยตา หลักไตรลักษณ์ หลักอริยสัจ หลักเบญจขันธ์ ทางที่สอง สอนให้เกิดความรู้ความเข้าใจในคุณค่าทางจริยธรรม เพื่อนำไปใช้ไปปฏิบัติให้เกิดผลดีต่อตนเอง ต่อสังคม และต่อธรรมชาติที่เรียกว่า ไตรสิกขา สอนให้ละเว้นความชั่ว สอนให้กระทำความดี และสอนให้ทำจิตใจให้สงบบริสุทธิ์
อย่างไรก็ตามหลักการพระพุทธศาสนาจะมีฐานะคล้ายกับวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ แต่จริยศาสตร์แนวพุทธไม่เหมือนกับวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ดังท่านพระธรรมปิฎก แสดงความเห็นไว้ในการบรรยายเรื่อง พระพุทธศาสนาในฐานะรากฐานของวิทยาศาสตร์ตอนหนึ่งว่า
“วิทยาศาสตร์นำเอาความรู้จากกฎธรรมชาติ โดยสอนให้มนุษย์รู้จักใช้เทคโนโลยี เพื่อควบคุมธรรมชาติ ส่วนปรัชญาพุทธสอนให้มนุษย์นำสัจธรรมมาสร้างจริยธรรมเพื่อดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ สอนให้มนุษย์ใช้ปัญญา ในการแก้ปัญหาชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิต”
ความแตกต่างของหลักการพระพุทธศาสนากับหลักการทางวิทยาศาสตร์
1. มุ่งเข้าใจปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหลักการทางวิทยาศาสตร์มุ่งเข้าใจปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ต้องการรู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุ อะไรเป็นผลที่ตามมา เช่น เมื่อเกิดฟ้าผ่า ต้องรู้อะไรคือสาเหตุของฟ้าผ่า และผลที่ตามมาหลังจากฟ้าผ่าแล้วจะเป็นอย่างไร หลักการพระพุทธศาสนาก็มุ่งเข้าใจปรากฏการณ์ต่าง ๆ เช่นเดียวกัน แต่ต่างตรงที่ พระพุทธศาสนาเน้นเป็นพิเศษเกี่ยวกับวิถีชีวิตของมนุษย์มากกว่ากฎเกี่ยวกับสิ่งที่ไร้ชีวิต จุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาคือ สอนให้คนเป็นคนดีขึ้น พัฒนาขึ้น สมบูรณ์ขึ้น
2. ต้องการเรียนรู้กฎธรรมชาติ หลักการทางวิทยาศาสตร์ต้องการเรียนรู้กฎธรรมชาติและหาทางควบคุมธรรมชาติ หรือเอาชนะธรรมชาติ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ วิทยาศาสตร์เน้นการควบคุมธรรมชาติภายนอกมุ่งแก้ปัญหาภายนอกวิทยาศาสตร์ถือว่าการพิสูจน์ทดลองทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่นำมาแสดงให้สาธารณชนประจักษ์ชัดเป็นหลักฐานยืนยันในสิ่งที่ค้นพบนั้นได้ จึงจะเป็นการยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์
หลักการพระพุทธศาสนาเป็นการทดสอบความรู้สึกทุกข์ หรือไม่เป็นทุกข์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดในจิตใจเฉพาะตน ไม่สามารถตีแผ่ให้สาธารณชนประจักษ์ด้วยสายตา แต่พิสูจน์ทดลองได้ด้วยความรู้สึกในจิตใจ และหลักการพระพุทธศาสนาไม่ได้เน้นในเรื่องให้สาธารณชนยอมรับหรือไม่ยอมรับ มุ่งให้ศึกษาเข้าไปในจิตใจตนเอง แต่มุ่งแสวงหาความจริงจากทั้งภายนอกและภายในตัวมนุษย์อันเป็นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา ทางด้านจิตวิญญาณอันเป็นผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและต่อคุณภาพชีวิต สอนให้คนควบคุมภายในจิตใจตัวเอง ลำพังแต่ความสามารถที่ควบคุมธรรมชาติได้ ไม่อาจทำให้ความสงบสุขเกิดขึ้นในโลกมนุษย์ มนุษย์ต้องรู้จักควบคุมตนเอง ให้มีจิตใจดีงามด้วย สันติสุขที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้นได้ และสอนมนุษย์ดำรงชีวิตให้สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
3. ยอมรับโลกแห่งสสาร (Matter) สสาร หมายถึง ธรรมชาติและสรรพสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่จริง รวมทั้งปรากฏการณ์และความเป็นจริงตามภาวะวิสัย (ObjectiveReality) ด้วย ซึ่งสรรพสิ่งเหล่านี้มีอยู่ต่างหากจากตัวเรา เป็นอิสระจากตัวเรา และเป็นสิ่งที่สะท้อนขึ้นในจิตสำนึกของคนเราเมื่อได้สัมผัสมัน อันทำให้ได้รับรู้ถึงความมีอยู่ของสิ่งนั้น ๆ กล่าวโดยทั่วไปแล้วสสารมีคุณลักษณะ 3 ประการคือ
1) เคลื่อนไหว (Moving) อยู่เสมอ
2) เปลี่ยนแปลง (Changing) อยู่เสมอ
3) การเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลง ดังกล่าวนั้น มิใช่เป็นการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างส่งเดช แต่หากเป็นการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างมีกฎเกณฑ์ที่เรียกกันว่า กฎแห่งธรรมชาติ (Laws of Natires)
วิทยาศาสตร์ยอมรับโลกแห่งสสารซึ่งเทียบได้กับ “รูปธรรม” ในความหมายของพระพุทธศาสนา อันหมายถึงสิ่งที่มีอยู่จริงทางภาววิสัย ที่อวัยวะสัมผัสของมนุษย์สัมผัสได้ วิทยาศาสตร์มุ่งศึกษาด้านสสารและพลังงาน ยอมรับโลกแห่งสสาร ที่รับรู้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ว่ามีจริง โลกที่อยู่พ้นจากนั้น วิทยาศาสตร์ไม่ยอมรับ ส่วนแนวคิดทางพระพุทธศาสนานี้ ชี้ว่าสัจธรรมสูงสุด (นิพพาน) ซึ่งเป็นสภาวะที่ประสาทสัมผัสของมนุษย์ปุถุชนที่เต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา ไม่สามารถรับรู้ได้ พระพุทธศาสนาแบ่งสิ่งที่มีอยู่จริงของสองพวกใหญ่ ๆ คือ “สังขตธรรม” (สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง) ได้แก่ สสารและ “อสังขตธรรม” (สิ่งที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง) คือ นิพพาน วิทยาศาสตร์ยอมรับว่าสังขตธรรมมีจริง แต่อสังขตธรรมอยู่เหนือการรับรู้ของวิทยาศาสตร์
สัจธรรมในพระพุทธศาสนานั้นมีทั้งที่สามารถแสดงให้เห็นประจักษ์เป็นสาธารณะได้และไม่สามารถแสดงให้ประจักษ์เป็นสาธารณะได้ แต่แสดงโดยการประจักษ์ในตนเองได้ (หมายถึงมีทั้งที่สามารถรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส และรับรู้ด้วยใจ) ความจริงระดับต้น ๆ และระดับกลาง ๆ ใคร ๆ ก็อาจเข้าใจและเห็นจริงได้ เช่น คนโลภมาก ๆ อิจฉามาก ๆ ไม่มีความสงบสุขแห่งจิตใจอย่างไรบ้าง คนที่มีเมตตา ไม่ปรารถนาร้ายต่อใคร ๆ มีความสุข ไม่มีเวร ไม่มีภัย อย่างไรบ้าง ความจริงเหล่านี้ ล้วนสามารถแสดงให้ประจักษ์ได้ ชี้ให้ดูตัวอย่างได้ แต่ปรมัตถธรรม อันสูงสุดนั้นผู้ที่ได้พบแล้วยากจะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ เป็นสภาวะที่ผู้รู้เอง เห็นเอง จะพึงประจักษ์เฉพาะตัว
4. มุ่งความจริงมาตีแผ่ วิทยาศาสตร์นั้นแสวงหาความรู้จากธรรมชาติและจากกฎธรรมชาติที่มีอยู่ภายนอกตัวมนุษย์ (มุ่งเน้นทางวัตถุหรือสสาร) ไม่ได้สนใจเรื่องศีลธรรม เรื่องความดีความชั่ว สนใจเพียงค้นคว้าเอาความจริงมาตีแผ่ให้ประจักษ์เพียงด้านเดียว เช่น วิทยาศาสตร์พบเรื่องการระเบิด แต่ควรระเบิดอะไร ไม่ควรระเบิดอะไร ไม่อยู่ในขอบข่ายของวิทยาศาสตร์ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์จึงมีทั้งคุณอนันต์และมีโทษมหันต์ กระบวนการผลิตทางวิทยาศาสตร์ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คำสอนทางพระพุทธศาสนานั้น เน้นเรื่องศีลธรรม ความดีความชั่ว มุ่งให้มนุษย์มีความสุข เป็นลำดับขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงความสงบสุข อันสูงสุดคือนิพพาน ฉะนั้นกระบวนการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาจึงส่งเสริมให้มนุษย์อนุรักษ์ธรรมชาติ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
คำสอนทางพระพุทธศาสนานั้น เน้นเรื่องศีลธรรม ความดีความชั่ว มุ่งให้มนุษย์มีความสุข เป็นลำดับขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงความสงบสุข อันสูงสุดคือนิพพาน ฉะนั้นกระบวนการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาจึงส่งเสริมให้มนุษย์อนุรักษ์ธรรมชาติ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
การคิดตามนัยแห่งพระพุทธศาสนาและการคิดแบบวิทยาศาสตร์
การคิดตามนัยแห่งพระพุทธศาสนา การคิดตามนัยแห่งพระพุทธศาสนา เป็นการศึกษาถึงวิธีการแก้ปัญหาตามแนวพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า วิธีการแก้ปัญหาแบบอริยสัจ มีดังนี้คือ (พระราชวรมุนี. 2540 : 43-46)
1. ขั้นกำหนดรู้ทุกข์ การกำหนดรู้ทุกข์หรือการกำหนดปัญหาว่าคืออะไร มีขอบเขตของปัญหาแค่ไหน หน้าที่ที่ควรทำในขั้นแรกคือให้เผชิญหน้ากับปัญหา แล้วกำหนดรู้สภาพและขอบเขตของปัญหานั้นให้ได้ ข้อสำคัญคือ อย่าหลบปัญหาหรือคิดว่าปัญหาจะหมดไปเองโดยที่เราไม่ต้องทำอะไร หน้าที่ในขั้นนี้เหมือนกับการที่หมอตรวจอาการของคนไข้เพื่อให้รู้ว่าเป็นโรคอะไร ที่ส่วนไหนของร่างกาย ลุกลามไปมากน้อยเพียงใด ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มีตัวอย่างการกำหนดรู้ทุกข์ตามแนวทางของพุทธพจน์ที่ว่า “เกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์…ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นเป็นทุกข์”
2. ขั้นสืบสาวสมุทัย ได้แก่เหตุของทุกข์หรือสาเหตุของปัญหา แล้วกำจัดให้หมดไป ขั้นนี้เหมือนกับหมอวินิจฉัยสมุฏฐานของโรคก่อนลงมือรักษา ตัวอย่างสาเหตุของปัญหาที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้คือ ตัณหา ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
3. ขั้นนิโรธ ได้แก่ความดับทุกข์ หรือสภาพที่ไร้ปัญหา ซึ่งทำให้สำเร็จเป็นจริงขึ้นมา ในขั้นนี้ต้องตั้งสมมติฐานว่าสภาพไร้ปัญหานั้นคืออะไร เข้าถึงได้หรือไม่ โดยวิธีใด เหมือกับการที่หมอต้องคาดว่าโรคนี้รักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ใช้เวลารักษานานเท่าไร ตัวอย่างเช่น นิพพาน คือการดับทุกข์ทั้งปวงเป็นสิ่งที่เราสามารถบรรลุถึงได้ในชาตินี้ด้วยการเจริญสติพัฒนาปัญญาเพื่อตัดอวิชชา และดับตัณหา
4. ขั้นเจริญมรรค ได้แก่ ทางดับทุกข์ หรือวิธีแก้ปัญหา ซึ่งเรามีหน้าที่ลงมือทำ เหมือนกับที่หมอลงมือรักษาคนไข้ด้วยวิธีการและขั้นตอนที่เหมาะควรแก่การรักษาโรคนั้น ขั้นนี้อาจแบ่งออกเป็น 3 ขั้นย่อยคือ
4.1 มรรคขั้นที่ 1 เป็นการแสวงหาและทดลองใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อค้นหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุด เช่น พระพุทธเจ้าในช่วงที่เป็นคฤหัสถ์เคยใช้ชีวิตแบบบำรุงบำเรอตน หมกมุ่นในโลกีย์สุข แต่ก็ทรงรู้สึกเบื่อหน่าย จึงออกผนวชแล้วไปบำเพ็ญโยคะบรรลุสมาธิขั้นสูงสุดจากสำนักของอาฬารดาบสและอุทกดาบส แม้ในขั้นนี้พระองค์ยังรู้สึกว่าไม่บรรลุความพ้นทุกข์จึงทดลองฝึกการทรมานตนด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การอดอาหาร เป็นต้น
4.2 มรรคขั้นที่ 2 เป็นการวิเคราะห์ผลการสังเกตและทดลองที่ได้ปฏิบัติมาแล้ว เลือกเฉพาะวิธีการที่เหมาะสมที่สุด ดังกรณีที่พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่า กามสุขัลลิกานุโยค (การบำเรอตนด้วยกาม) และอัตตกิลมถานุโยค (การทรมานตนเอง) ที่ได้ทดลองมาแล้ว ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง เพราะเป็นเรื่องสุดโต่งเกินไป ทั้งการบำเพ็ญโยคะก็ทำให้ได้เพียงสมาธิ ยังไม่ได้ปัญญาเครื่องดับทุกข์ ดังนั้นวิธีการแห่งปัญญาจะสามารถช่วยให้พ้นทุกข์ได้
4.3 มรรคขั้นที่ 3 เป็นการสรุปผลของการสังเกตและทดลอง เพื่อให้ได้ความจริงเกี่ยวกับเรื่องนั้น ดังกรณีที่พระพุทธเจ้าได้ข้อสรุปว่า ทางสายกลางที่ไม่ตึงเกินไปหรือไม่หย่อนเกิน เป็นทางดับทุกข์ ทางนี้เป็นวิถีแห่งปัญญาที่เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) สรุปก็คือมรรคมีองค์ 8 นั่นเองแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์
แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วิธีการทางวิทยาศาสตร์ มีขั้นตอนดังนี้ (พระราชวรมุนี. 2540 : 40-43)
1. การกำหนดปัญหาให้ถูกต้อง ในขั้นนี้นักวิทยาศาสตร์กำหนดขอบเขตของปัญหาให้ชัดเจนว่า ปัญหาอยู่ตรงไหน ปัญหานั้นน่าจะมีสาเหตุมาจากอะไร ตัวอย่างเช่น การค้นพบดาวเนปจูนเมื่อ พ.ศ. 2386-2389 เริ่มจากการที่นักดาราศาสตร์กำหนดปัญหาว่า ทำไมดาวยูเรนัสซึ่งพวกเขาเข้าใจว่าเป็นดาวเคราะห์ดวงที่อยู่ไกลที่สุดจากดวงอาทิตย์จึงมีวิถีโคจรไม่เป็นไปสม่ำเสมอตามกฎแรงโน้มถ่วงนักดาราศาสตร์กลุ่มหนึ่ง สรุปว่ากฎแรงโน้มถ่วงคงใช้ไม่ได้กับสิ่งที่อยู่ไกลดวงอาทิตย์มาก ๆ อย่างดาวยูเรนัส แต่นักดาราศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งสันนิษฐานว่า สาเหตุที่วิถีโคจรของดาวยูเรนัส น่าจะมาจากการที่มีแรงโน้มถ่วงจากดาวเคราะห์ที่ยังค้นไม่พบมากระทำการ นักดาราศาสตร์กลุ่มนี้จึงเริ่มศึกษาหาตำแหน่งของดาวลึกลับดวงนั้นและค้นพบดาวเนปจูนในเวลาต่อมา
2. การตั้งสมมติฐาน นักวิทยาศาสตร์ใช้ข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้นเป็นฐานในการตั้งสมมติฐานเพื่อใช้อธิบายถึงสาเหตุของปัญหาและเสนอคำตอบหรือทางออกสำหรับปัญหานั้น ตัวอย่างเช่น ในเรื่องการคันพบดาวเนปจูนนั้น นักดาราศาสตร์กลุ่มหนึ่งตั้งสมมติฐานว่า สาเหตุที่วิถีโคจรของดาวยูเรนัสไม่เป็นไปสม่ำเสมอน่าจะเนื่องมาจากแรงโน้มถ่วงที่มาจากดาวเคราะห์ที่ยังค้นไม่พบ พวกเขาตั้งสมมติฐานว่าน่าจะมีดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งซึ่งมีวิถีโคจรห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าดาวยูเรนัส และในระหว่าง พ.ศ. 2386-2389 นักดาราศาสตร์สองคน คือ จอห์น อาดัม และเลอเวอริเอร์ ต่างก็ใช้คณิตศาสตร์คำนวณหาตำแหน่งของดาวเนปจูน และทำนายตำแหน่งของดาวดวงนี้ไว้ใกล้เคียงกัน การทำนายของนักดาราศาสตร์ทั้งสองเป็นเพียงการคาดคะเนความจริงซึ่งอยู่ในขั้นตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับคำตอบของปัญหา
3. การสังเกตและการทดลอง เป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดของการศึกษาหาความจริงทางวิทยาศาสตร์ การสังเกตเป็นการรวบรวมข้อมูลมาเป็นเครื่องมือสนับสนุนทฤษฎีที่อธิบายปรากฏการณ์ เช่น นักดาราศาสตร์เชื่อว่า โจฮัน แกลล์ ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องท้องฟ้าจนค้นพบดาวเนปจูนเมื่อ พ.ศ. 2389 นอกจากนั้น การทดลองหลายต่อหลายครั้งช่วยให้ค้นพบหลักการทางวิทยาศาสตร์และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับการค้นพบนั้น เช่น ในราว พ.ศ. 2150 นายแพทย์วิลเลียม ฮาวีย์ ใช้วิธีการทดลองจนค้นพบการไหลเวียนของโลหิตไปทั่วร่างกาย เขาสังเกตจังหวะชีพจรและการเต้นของหัวใจ ผ่าศพและซากสัตว์เพื่อตรวจสอบหลายครั้ง จนกระทั่งได้ข้อสรุปว่า หัวใจสูบฉีดโลหิตไปทั่วร่างกายทางหลอดเลือดแดง และโลหิตไหลกลับไปยังหัวใจทางหลอดเลือดดำ
4. การวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลที่ได้จากการสังเกตและทดลองมีจำนวนมาก นักวิทยาศาสตร์ต้องพิจารณาแยกแยะข้อมูลเหล่านั้นพร้อมจัดระเบียบข้อมูลเข้าเป็นหมวดหมู่และหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลต่าง ๆ เช่น นักเคมีชื่อ ดมิตริ เมนเดลิฟ (D. Mendelief) พบว่า ธาตุบางธาตุมีคุณสมบัติทางเคมีคล้ายกัน จึงได้จัดหมวดหมู่ให้กับธาตุเหล่านั้นโดยคิดตารางธาตุ (periodic table) ซึ่งแบ่งธาตุที่มีคุณสมบัติทางเคมีคล้ายกันไว้ในกลุ่มเดียวกัน ในตารางนี้ปรากฏว่ามีช่องว่างเกิดขึ้นเป็นระยะ ช่องว่างนี้แสดงว่าต้องเป็นที่สำหรับธาตุที่ยังค้นไม่พบ นักเคมียุคต่อมาได้ค้นพบธาตุใหม่จำนวนมาก แล้วนำมาเติมใส่ช่องว่างในตารางธาตุของเมนเดลิฟ
5. การสรุปผล ในการสรุปผลของการศึกษาค้นคว้านักวิทยาศาสตร์อาจใช้ภาษาธรรมดาเขียนกฎหรือหลักการทางวิทยาศาสตร์ออกมา บางครั้งนักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องสรุปผลด้วยคณิตศาสตร์ ตัวอย่างเช่น อัลเบิร์ต ไอสไตน์ พบความสัมพันธ์ระหว่างพลังงานและมวลสารจึงเขียนสรุปผลการค้นพบทฤษฎีสัมพันธ์เป็นสมการว่า E=MC2 หมายความว่า พลังงาน (E = Energy) เท่ากับมวลสาร (M = Mass) คูณด้วยความเร็วของแสงยกกำลังสอง
ที่มา : https://sites.google.com/site/maxnapk/kar-khid-tam-nay-haeng-phraphuthth-sasna-kab-kar-khid-baeb-withyasastr
พระพุทธศาสนาเน้นการฝึกหัดอบรมตน และการพึ่งพาตนเอง
การฝึกหัดอบรมตน
การฝึกอบรมตน หมายถึง การฝึกตนเองให้กระทำความดีทั้งทางกาย วาจา และใจ ซึ่งถือว่าเป็นผู้พัฒนาตนเอง ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมโดยรวม โดยอาศัยหลักของไตรสิกขาดังนี้
1. ศีล เป็นการฝึกการควบคุมพฤติกรรมทางกาย และวาจา เครื่องมือที่ใช้ฝึกศีลคือ วินัย เพราะวินัยเป็นตัวการจัดเตรียมชีวิตให้อยู่ในสภาพที่เอื้อต่อการพัฒนา โดยการจัดระเบียบความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิต และการอยู่ร่วมกันในสังคม
2. สมาธิ เป็นการฝึกในด้านจิต ได้แก่การพัฒนาจิตทั้งในด้านคุณธรรม เช่น มีความเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีจิตใจที่เข้มแข็งมั่นคง มีความเพียรพยายาม มีความรับผิดชอบ มีความอดทนอดกลั้น มีความข่มใจ เป็นต้น และมีสุขภาพจิตที่ดีมีความสุข เช่น มีความอิ่มเอมใจ มีความร่าเริงเบิกบานใจ มีความสดชื่นผ่องใส มีความรู้สึกพึงพอใจ เป็นต้น
3. ปัญญา เป็นการฝึกพัฒนาด้านความรู้ความเข้าใจ ความรู้ที่มีเหตุผล รู้จักการคิดวิเคราะห์ การสังเคราะห์ ตลอดจนรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก เป็นต้น
การพึ่งตนเอง
การพึ่งตนเอง หมายถึง การทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนได้ พร้อมที่จะรับผิดชอบตนเอง ไม่ทำตัวให้เป็นปัญหาหรือเป็นภาระให้กับบุคคลอื่น การพึ่งตนเองโดยไม่คอยแต่พึ่งบุคคลอื่น หรือการคอยอ้อนวอนจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ให้ช่วยเหลือตนเอง เวลาที่เกิดความลำบาก หรือความทุกข์ใจ เป็นต้น การประพฤติธรรมสำหรับสร้างที่พึ่งแก่ตนเอง มี 10 ประการคือ
1. ประพฤติดีมีวินัย คือ ดำเนินชีวิตโดยสุจริต ทั้งทางกาย ทางวาจา มีวินัย และประกอบอาชีพสุจรติ (สัมมาชีพ)
2. ได้ศึกษาสดับตรับฟังมาก คือศึกษาเล่าเรียนสดับตรับฟังมาก โดยศึกษาวิชาการให้มีความรู้ความชำนาญอย่างแท้จริง มีความรู้แจ้งชัดเจน และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในดำเนินชีวิตได้
3. รู้จักคบคนดี คือ มีกัลยาณมิตร รู้จักเลือกคบหาสมาคมกับคนที่ดี เป็นที่ปรึกษาหรือเป็นผู้แนะนำสั่งสอนเราไปในทางที่ดี เลือกสร้างความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องในสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี ซึ่งจะทำให้มีชีวิตที่เจริญงอกงาม
4. เป็นคนที่พูดกันง่าย คือไม่ดื้อรั้น เป็นคนกระด้างกระเดื่อง รู้จักรับฟังเหตุผล ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น และยอมรับข้อเสนอแนะพร้อมที่จะปรับปรุงตนเอง
5. ขวนขวายกิจของหมู่ คือเอาใจใส่ช่วยเหลือธุระหรือกิจการงานของหมู่คณะ ญาติ เพื่อนฝูง และภายในชุมชนของตนเอง รู้ใจใช้ปัญญาไตร่ตรองหาวิธีดำเนินงานที่เหมาะสม สามารถดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
6. เป็นผู้ใฝ่ในธรรม คือ ศึกษาธรรม หรือชอบศึกษาหาความรู้ รู้จักพูด รู้จักฟัง สร้างความรู้สึกสนิทสนม ทำตัวเป็นที่รักใคร่ของบุคคลอื่น และชวนให้ผู้อื่นอยากเข้ามาปรึกษาและร่วมสนทนาด้วย
7. มีความขยันหมั่นเพียร คือ มีความมุมานะบากบั่น ขยันเรียนขยันทำกิจการงาน ไม่ย่อท้อ รักความก้าวหน้า พยายามหลีกเลี่ยงจากความชั่ว ประกอบแต่ความดีงาม เป็นต้น
8. มีความพอดี คือ มีความยินดี มีความพึงพอใจในสิ่งที่ควรได้และไม่ควรได้ รู้จักความพอดีไม่ละโมบโลภมาก
9. มีสติมั่นคง คือ รู้สึกตนเองอยู่ตลอดเวลา ระลึกอยู่เสมอในสิ่งที่กระทำ สิ่งที่คิด มีความสุขุมรอบคอบ ไม่ประมาทเลินเล่อ ไม่เลื่อนลอย เป็นต้น
10. มีปัญญาอยู่เหนืออารมณ์ คือ มีปัญญาหยั่งรู้เหตุผล รู้ดีรู้ชั่ว รู้คุณรู้โทษ รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ มองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง และมีความคิดวิจารณญาณ
การพึ่งตนเองตามหลักพุทธศาสนสุภาษิตคือ “อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ” แปลว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตน หมายความว่า คนเราในระยะแรก ๆ มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น เช่น บุตรต้องอาศัยบิดามารดาเป็นผู้เลี้ยงดูตั้งแต่เล็กจนโต ต้องอาศัยครูบาอาจารย์ศึกษาหาความรู้ แต่เมื่อเราเติบโตมีวิชาหาเลี้ยงชีพได้แล้ว เราจะต้องพึ่งตนเองในการทำมาหากิน ในการสร้างฐานะ และในการเก็บรักษาทรัพย์ที่หามาได้เพื่อจับจ่ายใช้สอยในยามแก่เฒ่า นอกจากจะต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตนแล้ว เราก็จะต้องให้ผู้มีพระคุณมีบิดามารดาเป็นต้น เหล่านั้นพึ่งเราได้ในสิ่งที่ท่านต้องการจะพึ่ง
คนที่บิดามารดาเลี้ยงจนโตแล้ว ส่งเสียให้เรียนจนมีวิชาความรู้แล้ว ยังอาศัยแรงงานของบิดามารดาเลี้ยงชีวิตต่อไป จัดเป็นบุคคลที่เปล่าประโยชน์ นอกจากเป็นที่พึ่งแก่ตนเองไม่ได้แล้วยังทำตนให้เป็นภาระแก่ผู้อื่นด้วย ดังนั้น บุคคลผู้มีปัญญาพึงรีบสร้างฐานะเพื่อเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง
พระพุทธศาสนามุ่งอิสรภาพ
พระพุทธศาสนามุ่งให้การฝึกฝนตนเองของมนุษย์มุ่งสู่อิสรภาพ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายของการฝึกอบรมตนตามหลักพระพุทธศาสนา นั่นคือ “วิมุตติ” หมายถึง ความหลุดพ้น ความเป็นอิสระ เป็นภาวะจิตที่สำคัญเป็นพื้นฐาน ภาวะความหลุดพ้นเป็นอิสระนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญญา คือ เมื่อเห็นตามความเป็นจริง รู้เท่าทันสังขารแล้ว จิตจึงพ้นจากอำนาจครอบงำของกิเลส (ความโลภ ความโกรธ ความหลง) หรือ“อิสรภาพ” หมายถึง ความเป็นใหญ่ในตัวเอง ความพึ่งตนเองได้และความไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของใคร แม้ว่าอิสรภาพจะเป็นเป้าหมายสูงสุด
พระพุทธศาสนายังชี้แนะให้ค่อยๆ ลด ค่อยๆ ละเท่าที่จะทำได้ โดยสอนว่า “ไม่ควร ยึดมั่นถือมั่นสิ่งทั้งหลายมากเกินไป” อยากได้อะไร อยากมีอะไร ก็ให้สร้างสรรค์เอาเต็มที่เต็มความสามารถด้วยความพากเพียรและโดยวิธีสุจริต เท่านี้ก็นับได้ว่า “สัมผัส” กับอิสรภาพทางจิตได้บ้างแล้ว