เรื่อง หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา

หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา

หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาถือเป็นหัวใจสำคัญยิ่เพราะถือเป็นแก่นแท้ที่พุทธศาสนิกชน ควรศึกษาทำความเข้าใจให้ถ่องแท้

ดังนั้นในฐานะที่เป็นพุทธมามกะ การศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธ-องค์ย่อมจะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมที่ถูกต้องตามแนวทางของพระพุทธศาสนา เมื่อเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ย่อมจะทำให้ประพฤติปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามมา

พระรัตรตรัย

ความหมายของพระรัตนตรัย

คำว่า “รัตนตรัย” มาจากคำว่า “รัตน” แปลว่า แก้วหรือสิ่งประเสริฐ กับคำว่า “ตรัย” แปลว่า สาม ฉะนั้นพระรัตนตรัย แปลรวมกันว่า แก้วสามดวง หรือ สิ่งประเสริฐสามสิ่ง ที่พุทธศาสนิกชนเคารพนับถือสูงสุดสามสิ่งนับเป็นองค์ประกอบของศาสนาพุทธ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งจัดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของศาสนา 3 อย่างใน 6 อย่าง อันได้แก่

1.ผู้ให้กำเนิดศาสนา คือพระพุทธเจ้า

2. คัมภีร์หรือหลักคำสอน คือ พระธรรม

3. สาวกหรือผู้สืบทอดศาสนา คือพระสงฆ์

4. พิธีกรรมทางศาสนาหรือการประกอบพิธีทางศาสนกิจตามความเชื่อ

5. ศาสนสถานหรือวัตถุที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา

6. ศาสนิกชนหรือผู้เลื่อมใสในศาสนา


พระพุทธ

พระพุทธ หมายถึง พระพุทธเจ้า ทรงรู้แจ้งทรงมีความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา และใจ

ปราศจากกิเลส เครื่องเศร้าหมองจิตด้วยประการทั้งปวง ทรงเป็นสัมมาสัมพุทธะ คือ ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แล้วสั่งสอนให้ คนอื่นรู้ตาม ทรงเสด็จออกไปสั่งสอนแนวทางพ้นทุกข์แก่ชาวโลก โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก หลังจากนั้นพระองค์ยังได้ทรงสถาปนาสถาบันขึ้นมาเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา เรียกว่า “พุทธบริษัท ๔” คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

พระธรรม

พระธรรม หมายถึง ความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ แล้วนำมาสั่งสอนแก่ชาวโลก

หลักธรรมถือได้ว่า เป็นสิ่งสำคัญยิ่งของพระศาสนา

ชาวพุทธที่ดีจึงควรเคารพและเห็นความสำคัญของพระธรรม โดยพยายามศึกษาเพื่อให้เข้าใจได้อย่างถ่องแท้ ถ้าหากไม่เข้าใจถึงหลักธรรมหรือเข้าใจผิดๆ แล้วก็ถือมิได้ว่าเคารพพระธรรมอย่างแท้จริง

พระสงฆ์

พระสงฆ์ คือ ผู้สืบทอดพระศาสนา เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ทำหน้าที่ใน

การเผยแผ่พระธรรมคำสอนแก่มวลมนุษย์

พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและถือเป็นเนื้อนาบุญของโลกที่มีคุณอนันต์ควรแก่การเคารพสักการะ


คุณค่าของธรรมะ


ธรรมะ คือ หลักปฏิบัติในการดำรงชีวิต เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม และตนเอง

การมีชีวิตอยู่ การแก้ปัญหาชีวิตนั้นจะต้องมีหลักธรรมประจำใจ ซึ่งหลักที่สำคัญอันหนึ่งก็คือ หลักวิชาความรู้ ได้มีส่วนช่วยแก้ปัญหาแก่มนุษย์มากสุดที่จะประมาณได้

อย่างไรก็ตาม ความรู้หรือหลักวิชาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยให้ชีวิตดำเนินไปสู่จุดหมาย คือ ความสงบสุขได้ ต้องมีหลักอีกอันหนึ่งคือ หลักธรรมะ

ธรรมะ เป็นแนวทางที่จะพามนุษย์ไปสู่ความถูกต้อง และเป็นหลักที่จะช่วยให้ชีวิตประสบความสุขอันแท้จริง ถ้าไม่มีธรรมะเป็นหลักยึดเหนี่ยวแล้วความวิบัติชั่วร้ายก็จะเกิดขึ้น

ธรรมะคือ หลักที่จะช่วยเตือนเราว่าอะไรควรอะไรไม่ควร เป็นหลักสำหรับปฏิบัติที่จะช่วยให้เกิดความสุขสวัสดิ์ทั้งแก่ตนเองและแก่ส่วนรวม หลักวิชานั้นถ้าไร้หลักธรรมะเสียแล้วก็เปล่าประโยชน์ ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นประสบความสุขที่แท้จริงได้ ไม่ว่าจะเป็นสุขกายหรือสุขใจ


อริยสัจ 4

มีความจริงอยู่ 4 ประการคือ การมีอยู่ของทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ความดับทุกข์ และ หนทางไปสู่ความดับทุกข์ ความจริงเหล่านี้เรียกว่า อริยสัจ 4

ทุกข์ (ธรรมที่ควรรู้) คือ การมีอยู่ของทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ และตายล้วนเป็นทุกข์ ความเศร้าโศก ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความวิตกกังวล ความกลัวและความผิดหวังล้วนเป็น ทุกข์ การพลัดพรากจากของที่รักก็เป็นทุกข์ ความเกลียดก็เป็นทุกข์ ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น ความยึดติดในขันธ์ทั้ง 5 ล้วนเป็นทุกข์


โลกธรรม 8 หมายถึง เรื่องของโลกซึ่งมีอยู่ประจำกับชีวิต สังคมและโลกของมนุษย์ เป็นความจริงที่ทุกคนต้องประสบด้วยกันทั้งนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม อยู่ที่ว่า ใครจะประสบมาก หรือประสบน้อยช้าหรือเร็วกว่ากัน

โลกธรรม แบ่งออกเป็น 8 ชนิด จำแนกออกเป็น 2 ฝ่ายควบคู่กัน ซึ่งมีความหมาย

ตรงข้ามกัน คือ ฝ่ายอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าปรารถนาและฝ่ายอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ดังนี้

โลกธรรมฝ่ายอิฏฐารมณ์ คือ ฝ่ายที่มนุษย์พอใจมี 4 เรื่อง คือ

1. ได้ลาภ หมายความว่า ได้ผลประโยชน์ ได้ทรัพย์สินเงินทอง ได้บ้านเรือนหรือที่สวน ไร่นา

2. ได้ยศ หมายความว่า ได้รับแต่งตั้งให้มีฐานันดรสูงขึ้น ได้ตำแหน่ง ได้อำนาจเป็นใหญ่เป็นโต

3. ได้รับสรรเสริญ คือ ได้ยิน ได้ฟัง คำสรรเสริญคำชมเชย คำยกยอ

4. ได้สุข คือ ได้ความสบายกาย สบายใจ ได้ความเบิกบาน ร่าเริง ได้ความบันเทิงใจ

โลกธรรมฝ่ายอนิฏฐารมณ์ คือ ฝ่ายที่มนุษย์ไม่พอใจมี 4 เรื่อง คือ

1. เสียลาภ หมายความว่า ลาภที่ได้มาแล้วเสียไป

2. เสื่อมยศ หมายถึง ถูกลดความเป็นใหญ่ ถูกถอดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดอำนาจ

3. ถูกนินทา หมายถึง ถูกตำหนิติเตียนว่าไม่ดี ถูกผู้อื่นพูดถึง ความไม่ดีของเราในที่ลับหลังเรียกว่าถูกนินทา

4. ตกทุกข์ คือ ได้รับความทุกข์ทรมานกายทรมานใจ

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรแน่นอน ไม่มีอะไรเป็นตัวของเราเอง ไม่มีใครในโลกนี้จะพบแต่ความสมหวังตลอดชีวิต จะต้องพบกับคำว่าผิดหวังบ้าง

ผู้มีปัญญาได้รับการศึกษาอบรมมาอย่างดีแล้ว พึงทำใจเอาไว้กลางๆ ว่า มีคนนินทา ก็ต้องมีคนสรรเสริญ มีสุขก็ต้องมีทุกข์ มีลาภย่อมเสื่อมลาภ มียศก็ย่อมเสื่อมยศ หากเราหวังอะไรเกินเหตุ เมื่อเวลาเราผิดหวัง ไม่สมหวัง ให้ทำใจไว้ว่านั่นคือโลกธรรมทั้ง 8 คือ มีได้ก็ต้องเสื่อมได้ เป็นของธรรมดาในโลกนี้ ไม่ว่าสัตว์หรือบุคคลใด ก็ย่อมหนีสิ่งเหล่านี้ไปไม่พ้น เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็ย่อมหนีสิ่งเหล่านี้ไปไม่พ้นอย่างแน่นอน เพราะเมื่อไม่สมปรารถนาที่ตัวเองคิดไว้ จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียอกเสียใจ รำพึงรำพันกับตัวเองถึงความไม่สมหวัง จะได้ไม่ต้องเป็นทุกข์มาก

เพราะฉะนั้น จงใช้สติปัญญาหมั่นพิจารณาอยู่เนืองๆ ว่า สิ่งใดมีเกิดขึ้น ก็ต้องมีเสื่อมไปเป็นของธรรมดา เหมือนโลกธรรมทั้ง 8 ประการ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ทุกคนจะต้องตกอยู่ในโลกธรรม 8 กันถ้วนหน้า จะได้ไม่ต้องเศร้าโศกเสียใจเป็นทุกข์ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างเป็นสุข"

อริยสัจ 4

สมุทัย (ธรรมที่ควรละ) คือ เหตุแห่งทุกข์ เพราะอวิชา ผู้คนจึงไม่สามารถเห็นความจริงของชีวิต พวกเขาตกอยู่ในเปลวเพลิงแห่งตัณหา ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความเศร้าโศก ความวิตกกังวล ความกลัว และความผิดหวัง

1. นิยาม 5

กฎธรรมชาติ นิยาม 5 ประการนี้ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างในโลกและในอนันตจักรวาล ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปตามกฎทั้ง 5 ประการนี้

1. อุตุนิยาม (Physical Laws) คือ กฎธรรมชาติที่ครอบคลุมความเป็นไปของปรากฏการณ์ ในธรรมชาติ เกี่ยวกับวัตถุที่ไม่มีชีวิตทุกชนิด หลักของอุตุนิยาม ตามแนวพระพุทธศาสนามุ่งให้ผู้ที่เข้าใจเกี่ยวกับกฎธรรมชาติที่ว่าด้วยวัตถุ ซึ่งก็คือเมื่อมีเหตุปัจจัยเพียงพอก็จะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของมัน ไม่มีใครเป็นผู้กำหนดหรือห้ามได้ เช่น การที่จะเกิดฝนตก ก็มีเหตุปัจจัยเพียงพอให้เกิดฝนตก เช่น การระเหยของน้ำบนดิน การรวมตัวของก้อนเมฆ การเกิดลมพัด การกระทบกับความเย็น ก่อให้เกิดฝนตก เป็นต้น หากเราเข้าใจธรรมชาติเช่นนี้ ก็จะทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างมีความสุข อุตุนิยาม คือลักษณะสภาวะต่างๆของธาตุทั้ง 5 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ

2. พีชนิยาม (Biological Laws) คือ กฎธรรมชาติที่ครอบคลุมความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตทั้งพืช และสัตว์ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่ากฎธรรมชาตินี้ทำให้เมื่อเรานำเมล็ดข้าวเปลือกไปเพาะ ต้นที่งอกออกมาจะต้องเป็นต้นข้าวเสมอ หรือช้างเมื่อออกลูกมาแล้วย่อมเป็นลูกช้างเสมอ ความเป็นระเบียบนี้พระพุทธศาสนาค้นพบว่าเป็นผล มาจากการควบคุมของธัมมตาทั้ง3 คือ สมตา (การปรับสมดุล) วัฏฏตา (การหมุนวนเวียน) และ ชีวิตา (การมีหน้าที่ต่อกัน) นั่นเอง

3. จิตนิยาม (Psychic Laws) คือ กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับกลไกการทำงานของจิต พระพุทธศาสนา ค้นพบว่า คนเราประกอบด้วยส่วนที่สำคัญ 2 ส่วน คือ ร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นผลมาจากจิตนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต กระบวนการของความคิด พระพุทธศาสนาเชื่อว่าคนเรา (รวมทั่งสิ่งมีชีวิตอื่น) ประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งของชีวิต คือ จิต จิตในทัศนะของพุทธศาสนาเป็นสิ่งต่างหากจากกาย ในฐานะที่เป็นสิ่งหนึ่งต่างหากจากกาย จิตก็มีกฎเกณฑ์ในการทำงาน เปลี่ยนแปลงและแสดงพฤติกรรม เป็นแบบฉบับเฉพาะตัว จิตนิยาม ได้แก่ นามธาตุ

4. กรรมนิยาม (Karmic Laws) คือกฎแห่งเหตุผล กฎแห่งการให้ผลของการกระทำ กฎอันเป็นเหตุเป็นผลของธรรมชาติแบ่งออกเป็น 2 อย่าง ทางนามธรรมและทางรูปธรรม ทางนามธรรม นี่คือ กฎแห่งกรรม คือการกระทำของจิต ทางรูปธรรม คือกฎแห่งกิริยา คือการกระทำของสิ่งไม่มีชีวิต โดยเฉพาะกฎแห่งกรรมที่เกิดจากจิตนิยาม คือมีเจตนา นั้นในทางพุทธศาสนานั้นทำให้เกิดอจินไตยทั้ง 4 (สิ่งที่ไม่อาจรู้ได้ด้วยการอาศัยตรรกะหรือความคิด)ที่ไม่อาจใช้เครื่องมือ ใดๆพิสูจให้เห็นประจักษ์โดยทั่วกันได้ นอกจากจะบรรลุธรรมด้วยตนเอง

5. ธรรมนิยาม (General Laws) คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความเป็นเหตุเป็นผลของสิ่งทั้งหลาย เป็นกฎสากลที่ครอบคลุมความเป็นไปทั้งฝ่ายจิตและฝ่ายวัตถุ กฎข้อนี้มีขอบเขตครอบคลุมกว้างขวางที่สุด กฎ 4 ข้อข้างต้นสรุปรวมลงในข้อสุดท้ายนี้ อันได้แก่กฎไตรลักษณ์ทั้ง3 คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

จากการค้นพบธรรมะดังกล่าวนี้ ทำให้เราทราบว่า ความรู้เรื่องจักรวาลวิทยาเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่ง ของธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบเท่านั้น ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่พระองค์ทรงค้นพบ แล้วมิได้นำมาตรัสให้ฟัง และเรื่องที่นำมาตรัสนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ฟังได้ข้อคิดแนวทางในการปฏิบัติธรรม เพื่อนำไปสู่ความพ้นทุกข์ หรือ นิพพาน นั่นเอง

2. มิจฉาวณิชชา 5

สัมมาอาชีวะเป็นหนึ่งในมรรค ๘ หรือ มรรคมีองค์แปดเลี้ยงชีพชอบ หมายถึงการทำมาหากินด้วยอาชีพที่สุจริต เว้นมิจฉาอาชีวะ อันได้แก่ การเลี้ยงชีพไม่ชอบ คือการโกงหรือหลอกลวง เว้นการประจบสอพลอ การบีบบังคับขู่เข็ญ และการต่อลาภด้วยลาภ รวมถึงอาชีพอีก 5 ประเภท ดังนี้

1. สัตถวณิชชา คือ การขายอาวุธ ได้แก่ อาวุธปืน อาวุธเคมี ระเบิด นิวเคลียร์ อาวุธอื่น ๆ เป็นต้น อาวุธเหล่านี้หากมีเจตนาเพื่อทำร้ายกัน จะก่อให้เกิดการทำลายล้างซึ่งกันและกัน โลกจะไม่เกิดสันติสุข

2. สัตตวณิชชา หมายถึง การค้าขายมนุษย์ ได้แก่ การค้าขายเด็ก การค้าทาส ตลอดจนการใช้แรงงานเด็กและสตรีอย่างทารุณ

3. มังสวณิชชา หมายถึง ค้าขายสัตว์เป็น สำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหารเป็นการส่งเสริมให้ทำผิดศีลข้อที่ 1 คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

4. มัชชวณิชชา หมายถึง การค้าขายน้ำเมา ตลอดจนการค้าสารเสพติดทุกชนิด

5. วิสวณิชชา หมายถึง การค้าขายยาพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ รวมทั้งเป็นอันตรายต่อสัตว์


อริยสัจ 4

นิโรธ (ธรรมที่ควรบรรลุ)


วิมุตติ 5


วิมุตติ หมายถึง ความหลุดพ้น ความเป็นอิสระ เป็นภาวะจิตที่สำคัญเป็นพื้นฐาน

ภาวะความหลุดพ้นเป็นอิสระนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญญา คือ เมื่อเห็นตามความเป็นจริง รู้เท่าทันสังขารแล้ว จิตจึงพ้นจากอำนาจครอบงำของกิเลส (ความโลภ ความโกรธ ความหลง) ลักษณะด้านหนึ่งของความเป็นอิสระ ในเมื่อไม่ถูกกิเลสครอบงำ ก็คือ การไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ที่เย้ายวนหรือยั่วยุ อย่างที่ท่านเรียกว่าอารมณ์เป็นที่ตั้งของราคะ หรือ โลภะ โทสะและโมหะ เพราะจิตปราศจากราคะ โทสะ โมหะแล้ว ทำให้ไม่หวั่นไหวกับสิ่งเหล่านี้ ยังเป็นหลักประกันให้ประกอบการงานอย่างสุจริตด้วย สามารถเป็นนายเหนืออารมณ์ วิมุตติ ประกอบด้วย 5 ประการคือ


1. ตทังควิมุตติ คือ ความหลุดพ้นชั่วคราว หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลสได้

ชั่วคราว เช่น เกิดความเจ็บปวด หายจากความโลภ เกิดเมตตา หายโกรธ เป็นต้น แต่ความโลภ ความโกรธนั้นไม่หายทีเดียว อาจจะกลับมาอีก เป็นต้น


2. วิกขัมภนวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นด้วยการสะกดไว้ หมายถึง ความหลุดพ้นจาก

กิเลสได้ด้วยกำลังฌาน คือ สะกดไว้ได้ด้วยกำลังฌาน เมื่อฌานเสื่อมแล้ว กิเลสเกิดขึ้นได้อีก เช่น เมื่อนั่งสมาธิสามารถสะกดข่มกิเลสไว้ เมื่อออกจากสมาธิกิเลสก็กลับมาอีกครั้ง เป็นต้น


3. สมุจเฉทวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นเด็ดขาด หมายถึง ความพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจ

อริยมรรค (มรรคมีองค์ 8) ละกิเลสได้อย่างเด็ดขาด ไม่เกิดกิเลสอีกต่อไป


4. ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นด้วยความสงบ หมายถึง ความหลุดพ้นจาก

กิเลส เนื่องมาจากอริยมรรคอริยผลไม่ต้องขวนขวายเพื่อละกิเลสอีก


5. นิสสรณวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นด้วยสลัดออกไป หมายถึง ความหลุดพ้นจาก

กิเลสนั้นได้อย่างยั่นยืนตลอดไป ดับกิเลสเสร็จสิ้นแล้ว ได้แก่ นิพพาน

อริยสัจ 4

มรรค (ธรรมที่ควรเจริญ)


มรรค (ธรรมที่ควรเจริญ) คือ หนทางนำไปสู่ความดับทุกข์ อันได้แก่ อริยมรรค 8 ซึ่งได้รับ

การหล่อ เลี้ยงด้วยการดำรงชีวิตอย่างมีสติความมีสตินำไปสู่สมาธิและปัญญาซึ่งจะปลดปล่อย ให้พ้นจากความทุกข์และความโศกเศร้าทั้งมวลอันจะนำไปสู่ความศานติและ ความเบิกบาน พระพุทธองค์ได้ทรงเมตตานำทางพวกเราไปตามหนทางแห่งความรู้แจ้งนี้


อปริหานิยธรรม 7

อปริหานิยธรรมนี้เป็นหลักธรรมสำหรับใช้ในการปกครองเพื่อป้องกันมิให้การบริหารหมู่คณเสื่อมถอย แต่กลับเสริมให้เจริญเพียงส่วนเดียวสามารถนำไปใช้ได้ทั้งหมู่ชนและผู้บริหารบ้านเมืองและพระภิกษุสงฆ์ ดังนี้คืออปริหานิยธรรมสำหรับหมู่ชนและการบริหารบ้านเมือง เป็นหลักในการปกครองโดยปฏิบัติตามหลักการร่วมรับผิดชอบที่จะช่วยป้องกันความเสื่อมนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองโดยส่วนเดียว มี 7 ประการคือ

1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เป็นการประชุมพบปะปรึกษาหารือกิจการงานต่าง ๆแลกเปลี่ยนควาคิดเห็นซึ่งกันและกัน และหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆร่วมกันโดยสม่ำเสมอ

2. พร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุม และทำกิจกรรมร่วมกันเป็นการประชุมและการทำกิจกรรมทั้งหลายที่พึงกระทำร่วมกันหรือพร้อมเพรียงกันลุกขึ้นป้องกันบ้านเมือง

3. ไม่บัญญัติหรือล้มเลิกข้อบัญญัติต่าง ๆ เป็นการไม่เพิกถอน ไม่เพิ่มเติมไม่ละเมิดหรือวางข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ อันมิได้ตกลงบัญญัติไว้และไม่เหยียบย่ำล้มล้างสิ่งที่ตกลงวางบัญญัติไว้แล้วถือปฏิบัติมั่นอยู่ในบทบัญญัติใหญ่ที่วางไว้เป็นธรรมนูญ

4. ให้ความเคารพและรับฟังความคิดเห็นของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เป็นผู้มีประสบการณ์ยาวนานดังนั้นเราต้องให้เกียรติ ให้ความเคารพนับถือและรับฟังความคิดเห็นของท่านในฐานะที่เป็นผู้รู้และมีประสบการณ์มามา

5. ไม่ข่มเหงสตรีเป็นการให้เกียรติและคุ้มครองสตรี มิให้มีการกดขี่ข่มเหงรังแก

6. เคารพบูชาสักการะเจดีย์ คือการให้ความเคารพศาสนสถาน ปูชนียสถาน อนุสาวรีย์ประจำชาติอันเป็นเครื่องเตือนความจำ ปลุกเร้าให้เราทำความดี และเป็นที่รวมใจของหมู่ชนไม่ละเลย พิธีเคารพบูชาอันพึงทำต่ออนุสรณ์สถานที่สำคัญเหล่านั้นตามประเพณีที่ดีงาม

7. ให้การอารักขาพระภิกษุสงฆ์หรือผู้ทรงศีล เป็นการจัดการให้ความอารักขา บำรุงคุ้มครอง อันชอบธรรม แก่บรรพชิต ผู้ทรงศีลทรงธรรมบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นหลักใจและเป็นตัวอย่างทางศีลธรรมของประชาชนเต็มใจต้อนรับและหวังให้ท่านอยู่โดยผาสุก


อปริหานิยธรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์

1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์เป็นการพบปะปรึกษาหารือกิจการงานคณะสงฆ์โดยสม่ำเสมอ

2. พร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจกรรมสงฆ์ ซึ่งการประชุมและการทำกิจกรรมใดที่สงฆ์พึงกระทำร่วมกันและพร้อมเพรียงกันลุกขึ้นจัดการแก้ไขสิ่งเสียหายเหตุไม่ดีไม่งาม

3. ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติคือการไม่ล้มล้างสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้

4. เคารพและรับฟังถ้อยคำของภิกษุผู้ใหญ่ คือภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ เป็นสังฆบิดรเป็นสังฆปรินายก เคารพนับถือภิกษุเหล่านั้นเห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง เช่นเราเคารพนับถือและเชื่อฟังคำสั่งสอนขององค์พระสังฆราช พระราชาคณะต่าง ๆ เป็นต้น

5. ไม่ลุอำนาจตัณหา คือความอยากที่เกิดขึ้น

6. ยินดีในเสนาสนะป่า ยินดีในความเป็นอยู่ที่ง่าย ๆ เป็นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติที่สงบร่มเย็น

7. ยินดีสมาชิกใหม่และความปรารถนาดีต่อสมาชิกเก่าคือตั้งสติระลึกไว้ในใจว่า เพื่อนพรหมจารี (พระภิกษุสงฆ์)ทั้งหลายที่เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันและมีความปรารถนาดีพระภิกษุสงฆ์ที่อยู่เก่าให้มีความเป็นอยู่ที่ผาสุก


ปาปณิกธรรม3

ปาปณิกธรรม คือหลักของการเป็นพ่อค้า หรือคุณสมบัติของพ่อค้า หมายถึงการเป็นพ่อค้าที่ดีจะต้องมีหลักในการค้าหรือมีคุณสมบัติด้านการค้าดังต่อไปนี้

1. จักขุมา คือ ตาดี หมายถึง การรู้จักสินค้า ดูสินค้าเป็น สามารถคำนวณราคากะทุนเก็งกำไรได้อย่างแม่นยำ เป็นต้น

2. วิธูโร คือจัดเจนธุรกิจ หมายถึง รู้แหล่งซื้อแหล่งขายรู้ความเคลื่อนไหวหรือความต้องการของตลาด มีความสามารถในการจัดซื้อจัดจำหน่ายรู้ใจและรู้จักเอาใจลูกค้า บริการตรงกับความต้องการของลูกค้า เป็นต้น

3. นิสสยสัมปันโน คือ มีพร้อมด้วยแหล่งทุนเป็นที่อาศัย หมายถึงทำตัวเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจใสหมู่แหล่งทุนใหญ่ (เครดิตดี)มีความสามารถหาเงินมาลงทุนหรือดำเนินกิจการได้โดยง่าย


ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4

ทิฏฐธัมมิกัตถะเป็นข้อปฏิบัติสำคัญที่ทำให้เกิดผล คือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้มีทรัพย์สินเงินทอง พึ่งตนเองได้เรียกว่าธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน บางทีเรียกว่า “หัวใจเศรษฐี” โดยมีคำย่อคือ “อุ” “อา” “กะ” “สะ” ดังนี้คือ

1. อุฏฐานะสัมปทา (อุ) หมายถึงการถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียรรู้จักใช้ปัญญาไตร่ตรองพิจารณาหาวิธีการที่แยบคายในการทำงานมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักคิด รู้จักทำ รู้จักดำเนินการด้านเศรษฐกิจทำการงานประกอบอาชีพให้ได้ผลดี

2. อารักขสัมปทา (อา) หมายถึง การถึงพร้อมด้วยการรักษาสามารถปกป้องคุ้มครองรักษาทรัพย์สินที่หามาได้ ไม่ให้สูญหายพินาศไปด้วยภัยต่าง ๆ

3. กัลยาณมิตตตา (กะ) หมายถึงการรู้จักคบคนดีหรือมีกัลยาณมิตร ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้เจริญก้าวหน้าในวงการอาชีพนั้น ๆ ทำให้รู้เห็นช่องทางและโอกาสต่าง ๆในการงาน ทันต่อเหตุการณ์ ตลอดจนรู้จักปฏิบัติต่อทรัพย์ของตนอย่างถูกต้องไม่ถูกมิตรชั่วชักจูงไปในทางอบายมุขซึ่งจะทำให้ทรัพย์สินไม่เพิ่มพูนหรือมีแต่จะหดหายไป

4. สมชีวิตา (สะ) หมายถึง ความเป็นอยู่พอดีหรือความเป็นอยู่สมดุล คือเลี้ยงชีพแต่พอดี ไม่ให้ฟุ่มเฟือย ไม่ให้ฝืดเคืองให้รายได้เหนือรายจ่าย มีเหลือเก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น


โภคาอาทิยะ 5


โภคอาทิยะ คือประโยชน์ที่ควรถือเอาจากการเป็นเจ้าของโภคทรัพย์ หรือการใช้โภคทรัพย์ที่พอเหมาะพอควร มี 4 ประกอบด้วย


1. ใช้จ่ายทรัพย์นั้นเลี้ยงตนเองเลี้ยงดูครอบครัว มารดาบิดา ให้เป็นสุข

2. ใช้ทรัพย์นั้นบำรุงเลี้ยงมิตรสหายผู้ร่วมกิจการงานให้เป็นสุข

3. ใช้ป้องกันภยันตรายต่าง ๆ

4. ทำพลี คือ การสละบำรุงสงเคราะห์ 5 อย่างได้แก่

ก. อติถิพลี ใช้ต้อนรับแขก คนที่ไปมาหาสู่เป็นเรื่องของการปฏิสันถาร

ข. ญาติพลี ใช้สงเคราะห์ญาติ

ค. ราชพลี ใช้บำรุงราชการด้วยการเสียภาษีอากร เป็นต้น

ง. เทวตาพลี บำรุงเทวดาคือสิ่งที่เคารพนับถือตามลัทธิความเชื่อหรือตามขนมธรรมเนียมของ

สังคม

จ. ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้แก่บุพการี ท่านที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณ


5. บำรุงสมณพราหมณ์ คือ พระสงฆ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบผู้ฝึกฝนพัฒนาตนเอง ไม่ประมาทมัวเมา ผู้ที่จะดำรงธรรมไว้ให้แก่สังคม



อริยวัฑฒิ 5


อริยวัฑฒิ หมายถึง หลักปฏิบัติที่นำไปสู่ความเจริญงอกงาม หรือความเป็นอารยชน หรือความเป็นคนดีในอุดมคติ ซึ่งจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ 5 ประการ ดังนี้


1. ศรัทธา

หมายถึง ความเชื่อ ในพระพุทธศาสนาความเชื่อที่เป็นศรัทธา จะต้องตั้งอยู่บนเหตุผล โดยเฉพาะชาวพุทธที่จะเชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่าเป็นจริง นำมาใช้ปฏิบัติแล้วเกิดผลดีตลอดไป รวมไปถึงความเชื่อในเรื่องกรรมว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ความเชื่อในเรื่องผลของกรรม ผลดีเกิดจากการทำดี ผลชั่วเกิดจากการทำชั่วและกรรมเป็นผลเฉพาะบุคคลคือ คนแต่ละคนเป็นเจ้าของและต้องรับผิดชอบผลแห่งกรรมที่ตนกระทำ นอกจากนี้ศรัทธาที่แท้จริงจะต้องมีควบคู่กับศีล

2. ศีล

คือ การรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย ด้วยการประพฤติปฏิบัติดีมีวินัย ในทางพระพุทธศาสนาเมื่อมีศรัทธาจะต้องมีศีล เพราะศีลเป็นพื้นฐานเบื้องต้นหรือเป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีที่จะทำให้สังคม สงบสุข ศีล 5 มี 5 ข้อ คือ

2.1 เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

2.2 เว้นจากการลักทรัพย์

2.3 เว้นจากการประพฤติผิดในกาม

2.4 เว้นจากการพูดเท็จ

2.5 เว้น จากการดื่มน้ำเมาหรือสิ่งเสพติดสังคมใดที่มีผู้รักษาศีล ชีวิตของคนใน

สังคมนั้นก็จะมีแต่ความเจริญงอกงาม เพราะทุกคนจะมีระเบียบวินัย รักษาจารีตประเพณี ปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งจะเกิดผลตามมา คือ การประกอบอาชีพสุจริต ไม่เสพสิ่งเสพย์ติด ไม่มีโจรผู้ร้าย บ้านเมืองก็จะเกิดแต่ความสงบสุข

3. สุตะ

คือ การศึกษาเล่าเรียนที่ได้มาจากการฟัง การศึกษาเล่าเรียนถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จะทำให้คนทันโลกทันเหตุการณ์และมีชีวิตที่มีคุณภาพ การศึกษามีได้โดยการเรียนรู้จากผู้อื่นการเรียนรู้ด้วยตนเอง แต่การฟังเป็นส่วนสำคัญในการทำให้การศึกษาประสบผลสำเร็จ การศึกษาที่ดีจะต้องศึกษา 2 ทาง ควบคู่กันไป คือ การศึกษาทางโลกและการศึกษาทางธรรมโดยศึกษาความเจริญทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ไปอย่างรวดเร็ว เพื่อจะได้เป็นคนทันเหตุการณ์ แต่จะต้องไม่ลืมที่จะพัฒนาทางจิตใจให้เจริญตามไปด้วยจึงจะถือได้ว่าเป็นการ ศึกษาที่แท้จริง

4. จาคะ

คือ การเสียสละหรือการบริจาค ในสิ่งที่เป็นส่วนน้อยเพื่อเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ลักษณะสิ่งที่บริจาคจะต้องมี 2 ลักษณะ คือ

4.1 ลักษณะที่เป็นรูปธรรม เช่น เงิน ทอง สิ่งของ

4.2 ลักษณะ ที่เป็นนามธรรม เช่น คำสั่งสอน ความหวังดี ความเมตตาลักษณะการเผื่อแผ่หรือบริจาค จะต้องทำให้เกิดความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ การเสียสละถือเป็นหลักธรรมสำคัญ เพราะคนในสังคมทุกคนไม่มีใครมีอะไรเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะความรู้ ความสามารถ ฐานะความเป็นอยู่และชะตากรรมของชีวิตแต่ถ้าทุกคนรู้จักเกื้อกูลกัน คือ จาคะ สังคมนี้ก็จะเกิดความสุข ความเจริญได้ไม่ยาก

5. ปัญญา

คือ ความรู้ รู้จริง รู้แจ้ง รู้ทะลุปรุโปร่งทั้งดีและชั่ว มนุษย์ทุกคนมีปัญญาไม่เท่าเทียมกันแต่ก็หาเพิ่มได้โดยการศึกษาเล่าเรียนจาก การอ่าน การฟัง การคิด แล้วนำมาปฏิบัติ ถ้ามนุษย์นำปัญญามาใช้อย่างมีเหตุผล เหมาะสมกับสภาพของตนเอง ความเจริญก้าวหน้าในสังคมก็จะเกิดขึ้น มนุษย์ถึงพร้อมด้วยธรรมทั้งหมดนี้ เหมือนมีอาวุธอยู่ในมือตัวเอง พร้อมที่จะต่อสู้อุปสรรค ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ เมื่อมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีอุปสรรค ความสุขก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา


ที่มา:http://www.kalyanamitra.org/th/mngkhlchiwit38_detail.php?page=127

มงคล 38

มงคล หมายถึง สิ่งที่ทำให้มีโชคดี ธรรมอันนำมาซึ่งความสุข ความเจริญ


จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม (มงคลที่ 35)


จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม คือ อะไร ?

จิตหวั่น คือความหวั่นหวาดกังวล กลัวว่าจะประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ

จิตไหว คือความปรารถนาอยากได้สิ่งที่รักที่ชอบใจ

โลกธรรม คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นประจำโลก ใครๆ ก็ต้องพบ หลีก เลี่ยงไม่ได้ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงประสบ มีอยู่ ๘ ประการ แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

ก. ฝ่ายที่คนทั่วไปปรารถนาอยากได้ คือ

๑.ได้ลาภ คือการได้ผลประโยชน์ เช่น ได้ทรัพย์ ได้บุตร-ภรรยา ได้บ้าน ได้ที่ดิน ได้เพชรนิลจินดาต่างๆ เป็นต้น

๒.ได้ยศ คือการได้รับตำแหน่ง ได้รับฐานะ ได้อำนาจเป็นใหญ่เป็นโต

๓.ได้สรรเสริญ คือการได้ยินได้ฟังคำชมเชย คำยกยอ คำสดุดีที่ คนอื่นให้เรา

๔.ได้สุข คือได้รับความสบายกายสบายใจ ได้ความเบิกบานร่าเริง ได้ความบันเทิงใจ ทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นเรื่องที่คนทั่วไปชอบ ยังไม่ได้ก็คิดหา ครั้นหาได้แล้วก็คิดหวง หวงมากๆ เข้าก็หึง การที่จิตมีอาการหา-หวง-ห่วง-หึง นี่แหละ เรียกว่า จิตไหว

ข.ฝ่ายที่คนทั่วไปกลัวว่าจะเกิดขึ้นกับตน คือ

๑.เสื่อมลาภ คือผลประโยชน์ที่ได้มาแล้วเสียไป เช่น เสียเงิน เสีย ที่อยู่ ลูกรักตายเสีย เมียรักตายจาก

๒.เสื่อมยศ คือถูกลดความเป็นใหญ่ ถูกถอดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดอำนาจ

๓.ถูกนินทา คือถูกตำหนิติเตียน ถูกด่าว่าในที่ต่อหน้าหรือลับหลัง

๔.ตกทุกข์ คือได้รับความทุกข์ทรมานทางกายหรือทางใจ

ทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นเรื่องที่คนเราไม่ชอบ ไม่ปรารถนาให้เกิดขึ้น กับตัว เมื่อยังมาไม่ถึง จิตก็หวั่นว่ามันจะมา เมื่อมันมาแล้วก็ภาวนาว่าเมื่อไหร่จะไปเสียที ไปแล้วก็ยังหวั่นกลัวว่ามันจะกลับมาอีก

จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรมหมายถึงอะไร ?

จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม หมายถึง สภาพจิตของผู้ที่ทำพระ-นิพพานให้แจ้งแล้ว มีใจตั้งมั่นเกิดความมั่นคงหนักแน่นดุจขุนเขา เป็นอุเบกขาวางเฉยได้

เมื่อพบกับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ตกทุกข์ จิตก็ไม่หวั่น

เมื่อพบกับความได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ เป็นสุข จิตก็ไม่ไหว

เพราะรู้เท่าทันว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมันไม่เที่ยง ไม่จีรังยั่งยืนอะไร ลาภ มีได้ก็เสื่อมได้ ยศตำแหน่งใหญ่โตก็ไม่ใช่ของเราตลอดไป สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ ทุกคนต้องพบทั้งนั้น และในที่สุดก็ต้องเสื่อมหายไปเป็นธรรมดาตามกฎของไตรลักษณ์

ไตรลักษณ์

ไตรลักษณ์ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สามัญลักษณะ คือลักษณะประจำของทุกสรรพสิ่งในโลก

ของต่างๆ ในโลกก็มีคุณสมบัติต่างกันไป เช่น ทองก็มีสีออกเหลืองๆ สะท้อนแสงมีประกายแวววาว กระจกก็ใส เพชรก็แข็ง คนเราก็มีชีวิตจิตใจรู้จักคิด แต่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่ก็ตาม จะมีลักษณะ ๓ ประการ ที่เหมือนกันหมดคือ

๑.อนิจจัง ความไม่เที่ยง ไม่หยุดอยู่กับที่ ต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เช่น บ้านเรือนก็ต้องเก่าคร่ำคร่าทรุดโทรมไป คนเราวันนี้กับเมื่อวานก็ไม่เหมือนกัน มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เป็นธรรมดา

๒.ทุกขัง ความเป็นทุกข์ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเป็นทุกข์ร้องไห้น้ำตาตก แต่หมายถึงการคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องแตกดับเพราะเมื่อมันไม่เที่ยงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้ว มันก็ต้องแตกดับ เช่น บ้านก็ต้องพัง คนเราก็ ต้องตาย แม้โลกที่เราอยู่นี้ก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และวันหนึ่งก็ต้องทำลายลง

๓.อนัตตา ความเป็นของไม่ใช่ตน ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ไม่อยู่ในอำนาจ บังคับบัญชาไม่ได้ เช่น ตัวเราจะบังคับไม่ให้แก่ก็ไม่ได้ บังคับไม่ให้ป่วยไข้ก็ไม่ได้ บ้านบังคับไม่ให้เก่าก็ไม่ได้ แต่ตัวของเราถ้ามาแยกธาตุกันจริงๆ แล้วก็จะพบว่าประกอบขึ้นด้วยเลือด เนื้อ กระดูก ฯลฯ เท่านั้น หาตัวตนจริงๆ ไม่เจอ เป็นเพียงการประชุมแห่งธาตุประกอบกันขึ้นมาชั่วคราว พอตายธาตุต่างๆ ก็แยกสลายจากกัน ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง

คนทั้งโลกมองไม่เห็นไตรลักษณ์ จึงลุ่มหลงมัวเมายินดียินร้ายหวั่นไหวในโลกธรรม ต้องตกอยู่ในห้วงทุกข์ตลอดมา

ผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว ท่านเห็นนิพพาน ซึ่ง อยู่พ้นกฎของไตรลักษณ์ เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง พ้นการเวียนว่ายตายเกิด มีความสุขอย่างยิ่ง เป็นบรมสุขที่ไม่กลับทุกข์อีก จึงไม่ใยดีในโลกธรรม ไม่ขุ่นมัว ไม่หลงใหล ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ซึ่งเป็นของไม่เที่ยงอยู่ในกฎของไตรลักษณ์

ท่านจะได้ลาภ ได้ยศ มีคนสรรเสริญยกย่อง หรือเป็นสุข ท่านก็เฉยๆ จิตไม่ไหว

ท่านจะเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาว่าร้าย หรือตกทุกข์ ท่านก็เฉยๆ จิตไม่หวั่น

คนทั่วไปเวลาป่วยไข้ มักเกิดความทุกข์ทั้งกายทั้งใจ แต่ผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว ใจจรดอยู่ในพระนิพพาน จะเกิดความทุกข์อะไรอันเนื่องมาจากสังขารนี้ก็ตาม ทุกข์นั้นจะหยุดอยู่แค่กาย กินเข้าไปไม่ถึงใจท่าน ท่าน มีจิตที่มั่นคงตลอด

ข้อเตือนใจ

โบราณท่านสอนว่า อยากจะรู้ว่าใครถึงคราวตกทุกข์ได้ยากแล้วจะพิลาปรำพันโอดครวญแค่ไหน ให้ดูอย่างนี้

ถ้าคนนั้นเวลาดีใจ ได้ของถูกใจ ก็หัวเราะฮ่าๆ ก็รู้เลยว่า เมื่อถึงคราวเสียใจ เสื่อมลาภ เขาก็จะร้องไห้โฮๆ เป็นช้างร้องเชียว

ตรงกันข้าม ถ้าเวลาดีใจเขาก็แค่ยิ้มๆ ก็รู้เลยว่าถึงตอนเสียใจ อย่างมากก็คงจะแค่กัดฟัน หรือนิ่งไปซักพักแล้วก็หาย นี่เป็นอย่างนี้

ท่านจึงให้ข้อเตือนใจไว้ว่า “ถ้าดีใจก็จงยิ้มเพียงมุมปากเดียว เมื่อถึงคราวเสียใจจะได้ไม่ถึงกับร้องไห้”

และยังให้กำลังใจสำหรับผู้ตกอยู่ในความทุกข์อีกว่า

“ยิ่งมืดเท่าไร แสดงว่ายิ่งดึก

ยิ่งดึกเท่าไร ก็แสดงว่ายิ่งใกล้สว่าง”

เพราะฉะนั้นจะเจอความทุกข์ขนาดไหน ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาปานใด สู้ทนทำความดีไปเถิด ยิ่งเจอหนักมากขึ้นแสดงว่ามันใกล้จะพ้นแล้วละ เหมือนยิ่งดึกก็ยิ่งใกล้สว่าง

นอกจากนี้เราทุกคนจะต้องตั้งใจฝึกสมาธิภาวนากัน จนใจหยุดใจนิ่งตั้งมั่นเป็นสมธิ เกิดปัญญาสว่างไสว เห็นอริยสัจจ์ ๔ และทำนิพพานให้แจ้งให้ได้ จึงจะมีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรมอย่างแท้จริง


จิตไม่เศร้าโศก (มงคลที่ 36)

1. วิธีระงับจิตไม่ให้เศร้าโศก คือ เจริญสมาธิเพื่อระงับอารมณ์เศร้าโศก และพิจารณาชีวิตของ มนุษย์ว่าต้องเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)

2. ประโยชน์ของการมีจิตไม่เศร้าโศก คือ ชีวิตมีความสุขสงบ หน้าตาแจ่มใส สุขภาพจิตดี และมีความเจริญก้าวหน้าในการเรียนหรือการงาน

จิตไม่มัวหมอง (มงคลที่ 37)

1. จิตไม่มัวหมอง คือ สภาพจิตที่ใสสะอาดปราศจากกิเลส ไม่ขุ่นมัว

2. สาเหตุที่ทำให้จิตมัวหมอง คือ ราคะ (กำหนัด อยากได้) ,โทสะ (ความโกรธ) และโมหะ (ความหลง)

3. วิธีทำให้จิตไม่มัวหมอง ได้แก่

- ควบคุมตนเอง ทั้งกาย วาจา และใจ ให้มีความอดทน และอดกลั้น

- มีสติไตร่ตรอง ใช้ปัญญาหาสาเหตุ และแก้ไขด้วยปัญญา

- ปรึกษาขอคำแนะนำจากท่านผู้รู้หรือกัลยาณมิตร เพื่อลดภาวะจิตมัวหมองให้น้อยลง

4. ผลจากสภาพจิตไม่มัวหมอง คือ มีอารมณ์สดชื่นเบิกบานแจ่มใส ชีวิตมีความสุขสงบ ไม่เร่าร้อน และหลุดพ้นจากความทุกข์

จิตเกษม (มงคลที่ 38)

จิตเกษม คือ จิตที่ปราศจากโยคะ สภาพจิตที่สุขสบาย ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ ห่างไกลจากกิเลส เป็นจิตของพระอรหันต์โดยแท้ และเป็นมงคลสูงสุดของชีวิต

วิธีสร้างจิตเกษม คือ ตัดโยคะออกไปให้หมดสิ้น โยคะ คือ สิ่งที่ทำให้มนุษย์ตกอยู่ในห้วงความทุกข์ไม่จบไม่สิ้น เช่น

- กามโยคะ ความยินดีในกามคุณทั้ง 5 จากรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส

- อวิชชาโยคะ ความไม่รู้ ความเข้าใจ และไม่นำปฏิบัติในหลักธรรมอริยสัจ 4

ประโยชน์ของการมีจิตเกษม ทำให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์และมีสุขอย่างแท้จริง


ที่มา : https://sites.google.com/site/khamronsocail/phumisastr-m-5/mngkhl-38

https://sites.google.com/site/fon5481136057/hnwy-thi-2/2-9